เตรียม Linux Lite ไว้ใช้เมื่อฉุกเฉิน

Linux มีหลายค่าย เช่น Ubuntu หรือ CentOS เป็นต้น เมื่อนำมาเพิ่มเติม Graphic User Interface (GUI) ให้ใช้งานได้ง่ายเช่นเดียวกับ Microsoft Windows ก็จะทำให้ Linux น่าใช้งานมาก สามารถใช้งานประจำวันได้เช่นเดียวกับ Microsoft Windows เลยนะครับ ผมจะข้ามเรื่องราวความเป็นมาของคำว่า Linux ไปนะครับ เอาเป็นว่าใครไม่รู้จักจริง ๆ ก็ Google Search เอานะครับ

Linux ค่าย Ubuntu ถูกนำมาใส่ GUI โดยผู้พัฒนาหลายทีม ปัจจุบันจึงมีตัวเลือกให้ใช้งานอยู่เยอะมาก อันนี้บางคนก็ว่าเป็นข้อด้อยที่ทำให้มือใหม่ “งง” ไม่รู้จะเลือกตัวไหน ตัวที่ผมคิดว่าน่าใช้งานก็จะมี Linux Mint ซึ่งผมก็ใช้งานมาหลายปีทีเดียว วันนี้ผมพบว่ามี Trend ใหม่ที่ค่อนข้างน่าสนใจ คือ Linux Lite ครับ เป็นลิสต์ 1 ใน 5 ชื่อที่มีการโพสต์ไว้ในบล็อก “5 Lightweight Linux For Old Computers”  เป็น Linux ที่มีขนาดเล็กที่ทดสอบดูแล้วว่าใช้งานได้ดีกว่าอีก 4 ชื่อที่กล่าวถึงในบล็อกนั้น ยิ่งเล็กมากเป็นเบอร์ 1 นี่ จะไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้งานประจำวันได้เลย มันจะเหมาะกับงานแอดมินมากกว่า

Linux Lite มีหน้าเว็บเพจที่มี Road Map ในการพัฒนาที่ชัดเจนทีเดียว ลองเข้าไปอ่านดูได้ที่ https://www.linuxliteos.com/ ครับ ทำให้ผมคิดว่าจะลองใช้งานตัวนี้แทน Linux Mint เพราะว่า Linux Lite มีขนาดที่เล็กกว่า และรู้สึกว่าใช้งานได้ง่าย ๆ เมนูก็คล้ายกับ Windows 7 ที่เราคุ้นเคย

ผมตั้งชื่อบล็อกที่ผมเขียนในวันนี้ว่า “เตรียม Linux Lite ไว้ใช้เมื่อฉุกเฉิน” ผมคิดว่าพวกเราส่วนใหญ่จะใช้ Microsoft Windows กันทุกวัน แต่หากว่าวันใดที่เครื่องของเรา หรือ เพื่อนเรายกเครื่องมาให้เราช่วยดูเมื่อเกิดปัญหา หลาย ๆ ครั้งเรื่องราวมันจะจบลงที่ระบบปฏิบัติการเสียหาย ต้องล้างเครื่อง (Format) ใหม่ หรือไม่ก็อาจเกี่ยวกับ USB Flash Drive ที่ใช้เก็บไฟล์ข้อมูลที่ไปติดไวรัสคอมพิวเตอร์มาจากเครื่องคอมฯที่อื่น

หากเราเรียนรู้วิธีการในวันนี้จะช่วยให้เราพร้อมที่จะจัดการปัญหาได้ทั้งแก่ตัวเองและช่วยเหลือเพื่อนของเราครับ

ที่ผมจะทำก็คือผมจะติดตั้ง Linux Lite ลงไปใน USB Flash Drive เมื่อติดตั้งเสร็จแล้ว เราก็นำไปเสียบเข้าที่เครื่องคอมฯที่ BIOS สามารถตั้งค่าให้ boot USB Hard Disk ได้

เราจะต้องทำดังนี้
1. ให้แน่ใจว่า USB Flash Drive มีขนาดไม่น้อยกว่า 8 GB และพร้อมให้ฟอร์แมตได้
2. ในเครื่อง Windows ของเรามีโปรแกรมที่ใช้สำหรับเขียนไฟล์ .iso ลงไปใน USB Flash Drive ได้ ผมเลือกใช้โปรแกรมชื่อว่า Rufus ล่าสุดคือรุ่น 2.14
3. ไปยังเว็บไซต์ https://www.linuxliteos.com/ เพื่อดาวน์โหลดไฟล์ .iso ล่าสุดคือรุ่น 3.4 เลือกว่าจะเอา 32 Bit หรือ 64 Bit ไม่ต่างกันครับ (32 Bit จะนำไปใช้กับเครื่องที่มี RAM มากกว่า 4 GB ไม่ได้ครับ และ 64 Bit ก็จะนำไปใช้กับเครื่องเก่า ๆ ที่เมนบอร์ดเป็น 32 Bit ไม่ได้)
4. ขั้นตอนติดตั้งคือ เสียบ USB Flash Drive จากนั้น เปิดโปรแกรม Rufus เลือกตำแหน่งที่วางไฟล์ .iso แล้วเลือกชื่อ USB Flash Drive แล้วกดปุ่มเพื่อติดตั้ง แล้วรอจนเสร็จ ถอด USB Flash Drive (ดูวิธีและภาพประกอบจากบล็อกที่เขียนไว้ เรื่อง “วิธีนำไฟล์ iso Linux Mint ลง USB Flash Drive ด้วยโปรแกรม Rufus for Windows“)

ในตอนนี้ เราก็มี USB Flash Drive ที่พร้อมใช้เมื่อฉุกเฉินแล้ว แล้วใช้มันอย่างไรหละ

ต่อไปก็เป็นขั้นตอนในการใช้งานเพื่อเข้าไป copy ไฟล์จากฮาร์ดดิสก์
ขั้นตอนมีดังนี้ครับ
1. บูตเครื่องด้วย USB Flash Drive Linux Lite ที่ทำเสร็จนั้น


2. คลิกที่ไอคอน Home Folder เพื่อเปิดหน้าต่างโปรแกรม File Manager


3. เสียบ USB Flash Drive Data ที่จะนำมาเก็บไฟล์จากฮาร์ดดิสก์ (ในรูปภาพคือไอคอนชื่อ MY_USB)


4. คลิกเลือกไอคอนที่เป็นฮาร์ดดิสก์ของวินโดวส์


5. ค้นหาไฟล์แล้ว เจอแล้วใช้วิธีการคลิกลากไปยังหน้าต่างของ USB Flash Drive Data (ตรงจุดนี้ไม่ทำรูปภาพให้ดูนะครับ ง่ายเหมือนใช้งาน Windows นะครับ)
6. เมื่อเสร็จ ให้คลิกขวาที่ไอคอน USB Flash Drive Data และเลือกคำสั่ง Unmount

 

และขั้นตอนในการใช้งานเพื่อจัดการลบไฟล์ใน USB Flash Drive ที่ติดไวรัส ก็คล้าย ๆ กัน
ขั้นตอนมีดังนี้ครับ
1. บูตเครื่องด้วย USB Flash Drive Linux Lite ที่ทำเสร็จนั้น
2. เสียบ USB Flash Drive อันที่ติดไวรัสนั้น
3. ค้นหาดูจะพบว่ามีโฟลเดอร์ที่มีชื่อแปลก ๆ เช่น ไม่มีชื่อแต่เป็นไอคอนรูปโฟลเดอร์ เป็นต้น
4. ให้เปลี่ยนชื่อโฟลเดอร์จาก ไม่มีชื่อ เป็น ชื่ออะไรก็ได้ แค่นี้เอง