Month: May 2023

  • รู้จัก AI สัญชาติไทย ผ่านการอบรม AI for Thai

    วันที่ 23-24 พ.ค. 66 ได้รับโอกาสจาก NECTEC ให้เข้าอบรม”ทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์ และประยุกต์ใช้แพลตฟอร์ม AI for Thai ประจำปี 2566″ รอบที่ 3

    เรามาทำความรู้จัก NECTEC แบบรวดเร็วกันนะครับ

    “NECTEC องค์กรที่มีหน้าที่ในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารในหลากหลายด้าน และ NECTEC ยังมีบทบาทในการสนับสนุนการพัฒนาทางธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารในประเทศไทย ผ่านการให้คำปรึกษา การฝึกอบรม และการให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแก่สถานประกอบการ รัฐบาล และสังคมทั่วไป และ AI for Thai คือผลงานจาก NECTEC”

    AI for Thai : Thai AI Service Platform เป็นแพลตฟอร์มให้บริการ AI สัญชาติไทย มุ่งวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และ Machine Learning เพื่อเน้นตอบโจทย์ผู้ใช้งาน ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและการบริการต่างๆ ในประเทศไทย เช่น

    • ภาคธุรกิจกลุ่มค้าปลีก (Retail) ใช้ Chatbot โต้ตอบเพื่อตอบคำถาม ให้บริการแก่ลูกค้าแทนพนักงาน
    • กลุ่มโลจิสติกส์ ใช้ระบบรู้จำใบหน้า (Face Recognition) เพื่อตรวจจับใบหน้าของพนักงานขับรถว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหรือไม่
    • ด้านการแพทย์ก็เริ่มใช้ AI มาวิเคราะห์แนวโน้มความเสี่ยงของโรคส่วนบุคคล หรือการอ่านฟิล์ม X-rays แทนมนุษย์ เป็นต้น
    • ด้านการท่องเที่ยว สามารถใช้ AI แปลภาษาและสามารถวิเคราะห์รูปอาหารและสถานที่ท่องเที่ยวจากภาพถ่าย

    AI for Thai เกิดจากการรวบรวมผลงานวิจัยและพัฒนาทางด้าน AI ภายใต้หน่วยวิจัยปัญญาประดิษฐ์ (AINRU) ของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ อันประกอบไปด้วยงานทางด้านการประมวลผลภาษาธรรมชาติของภาษาไทย, งานด้านการเข้าใจภาพในบริบทของความเป็นไทยและงานด้านการรู้จำและสร้างเสียงพูดภาษาไทย

    กลุ่มเป้าหมาย/ ผู้ใช้งาน

    • นักพัฒนาระบบ
    • ผู้ประกอบการบริษัท SME
    • Start up และบริษัทอื่นๆ

    จุดเด่นและข้อดี

    • มี AI ที่ผ่านการ train แล้วพร้อมเรียกใช้งาน คำว่า train แล้วนี้สำคัญมากเพราะการหาข้อมูลมา train จำนวนมากและใช้ความสามารถสูงของการคำนาณไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย
    • ไม่ต้องทำแอพพลิเคชันเองทุกขั้นตอน ทำให้ทำ แอพพลิเคชันออกมาได้เร็วกว่า
    • สามารถทดสอบใช้งานได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย* (แบบ Limited Free Service)

    APIs & Service

    โมดูลต่าง ๆ ที่รวบรวมเข้ามาให้บริการบนแพลตฟอร์ม ถูกจำแนกออกเป็น 3กลุ่ม ได้แก่ Language, Vision และ Conversation ซึ่งโมดูลต่าง ๆ จะพร้อมให้ใช้งานในรูปแบบ Web Service หรือ API

    • Language บริการด้านประมวลผลข้อความภาษาไทยรอบด้าน เช่น Word Segmentation, POS Tagging, Named Entity Recognition ประกอบด้วย
      • Basic NLP (ประมวลผลภาษา)
      • TAG Suggestion (แนะนำป้ายกำกับ)
      • Machine translation (แปลภาษา)
      • Sentiment Analysis (วิเคราะห์ความเห็น)
      • Question Answering (ถามตอบ)
    • Vision บริการด้านวิเคราะห์และเข้าใจภาพและวิดีโอหลากหลาย เช่น OCR, Face Recognition, Person Heatmap ประกอบด้วย
      • Character Recognition (แปลงอักษรภาพเป็นข้อความ)
      • Object Recognition (รู้จำวัตถุ) จำแนกรูปวัตถุในภาพออกมาเป็นชิ้นๆ
      • Face Analytics (วิเคราะห์ใบหน้า)
      • Person & Activity Analytics (วิเคราะห์บุคคล)
    • Conversation บริการด้านสนทนาแบบครบวงจร ได้แก่
      • Speech to Text (แปลงเสียงพูดเป็นข้อความ) Partii(พาที) บริการแปลงเสียงพูดภาษาไทยเป็นข้อความ
      • Text to Speech (แปลงข้อความเป็นเสียงพูด) วาจาเวอร์ชัน 9.0 (Animation) บริการแปลงข้อความภาษาไทยให้เป็นเสียงพูด พร้อมอวาทาร์
      • Chatbot (ระบบโต้ตอบทางข้อความอัตโนมัติ) ABDUL (Artificial chatBot which Does Understand Language) บริการสร้างแช็ตบอตสำหรับสนทนาอัตโนมัติ

    วิธีการสมัครใช้งาน

    1. เข้าเว็บ AI for Thai https://aiforthai.in.th/
    2. Click Register

    จะต้องเข้า Mail Confirm การลงทะเบียนและ set password เพื่อ Login ใช้งานระบบ


    วิธีการดู API Key ส่วนตัวเพื่อใช้งาน

    1. Login เข้าสู่ระบบ
    2. Click ที่ ProFile เพื่อดู API Key ที่แต่ละท่านจะมีไม่ซ้ำกัน

    วิธีการทดลองใช้งาน ไปที่เมนู Developer

    1. ทดลองระบบตัดคําภาษาไทยเล็กซ์โต (LexTo+)

    เข้าหน้านี้แล้ว Apikey ของแต่ละคนจะถูกใส่ไว้ให้อัตโนมัติแล้ว หา code ภาษาที่ต้องการจะใช้

    เช่น ถ้าต้องการภาษา Python ก็สามารถไป copy code มาว่างบน file .py ใน VS Code และก็ run

    ได้ทันทีครับ

    ผลการทดลองใช้ Python ใน VS Code

    สามารถตัดคำออกจากประโยคยาวๆออกมาได้อย่างถูกต้อง


    มีอะไรให้ทดลองเล่นได้หลากหลายมากครับ ลองสมัครและทดลองดูครับ

    ความรู้ที่ได้จากการอบรม

    ยุคนี้คือยุค Generative AI มาดูความสามารถของ AI ยุคนี้กันนะครับ

    AI ที่เป็นที่นิยมในตอนนี้

    • ChatGPT for text (OpenAI) สำหรับถามตอบ

    •Stable Diffusion (MidJourney) and DeepFakefor image and video สำหรับสร้างภาพและ video

    • VALL-E for voice (Microsoft) เลียนแบบเสียงพูดของคนได้เลยแค่ฟังคำพูด 3 วินาที

    Beatoven.ai https://www.beatoven.ai
    สามารถแต่งเพลงเองได้โดยไม่ผิดลิขสิทธิเพลงแน่นอน แค่บอก Beatoven.ai ว่าต้องการเพลงแนวไหน อย่างไร
    flair.ai https://flair.ai ออกแบบโฆษณาผลิตภัณฑ์
    ผลงานการออกแบบของ flair.ai
    https://illustroke.com ผู้ออกแบบงาน Vector Graphic design ทำ logos icons ได้หมด
    vidyo.ai ผู้ช่วยทำ viral short clips จาก clips ยาวๆทั้งหมดที่ถ่ายมา คนถ่าย Clips ไม่ต้องมาเสียเวลานั่งเลือกด้วยตัวเองหรือต้องจ้างให้ใครมาทำให้อีกแล้ว
    bestwebbs.com แหล่งหาผู้ช่วย AI

    เหมือนว่าทุกวงการจะถูก AI เข้าไปมีส่วนรวมหมดจะมากจะน้อยก็แล้วแต่ความสนใจ ความสามารถในการทำเงินและข้อมูลที่มากๆๆๆๆพอ บรรดา platform online ที่ใช้กันทั่วไป google fakebook tiktok เป็นแหล่งอาหารชั้นยอดสำหรับ AI หวังว่ามีคนเก่งสนใจสร้าง AI ให้เก่งเร็วพอจะช่วยโลกพ้นวิกฤษ climate change ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป ช่วยหาวิธีเพิ่มป่าไม้ เพิ่มออกซิเจน ลดการใช้พลังงานอย่างไม่ใส่ใจ ลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจก ลดขยะ ช่วย recycle ขยะ ช่วยทำให้คนมีเวลาเอาใจใส่สิ่งแวดล้อม เอาใจใส่กันและกัน เพื่อให้คนรุ่นต่อไปใช้ชีวิตที่ดีขึ้นและรู้สึกขอบคุณคนยุคก่อนๆที่ทำให้คนรุ่นต่อๆไปใช้ชีวิตอย่างมีความสุขง่ายขึ้น


    อ้างอิง

    บทความนี้ส่วนบางส่วนนำมาจาก AI for Thai และ “AI for Thai” พลิกโฉมดิจิทัลทรานฟอร์เมชันด้วยปัญญาประดิษฐ์ เพื่อทำให้เนื้อหาครบถ้วน ถูกต้องตามแบบที่ AI for Thai ต้องการสื่อสารและผมได้ขยายความบางส่วนเพื่อเพิ่มความเข้าใจมากขึ้น

    ขอบคุณวิทยากรทุกท่านในการอบรม “ทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์ และประยุกต์ใช้แพลตฟอร์ม AI for Thai ประจำปี 2566” รอบที่ 3 ที่ทั้งสร้าง Model AI ให้ประเทศไทยได้ใช้งานและได้ให้ความรู้เพื่อพัฒนา AI ของประเทศไทยเราต่อไป เพื่อไม่ให้ประเทศไทยเราถูกทิ้งไว้ข้างหลังด้าน AI

  • วิธีการติดตั้ง SDK Sentry บน Platforms .NET (Asp.Net)

    Step 1 ลง Sentry.AspNet

    ผ่าน NuGet Package Manager โดยใช้คำสั่ง

    Install-Package Sentry.AspNet -Version 3.20.1

    Step 2 Create project ผ่าน Sentry

    เลือก Server เป็น ASP.NET และตั้งชื่อ aspnet-e-admission จากนั้น ก็กดปุ่ม Create Project

    เมื่อกดสร้างเรียบร้อยแล้ว จะเห็น Project ชื่อ aspnet-e-admission ตามรูป

    เมื่อคลิกดูรายละเอียด จะแสดงดังภาพ

    Step 3 Project Settings>Client Keys

    นำค่า DSN ที่อยู่ในส่วน Client Keys ไปใช้งานต่อในส่วนของตั้งค่า Web.config

    ศึกษาวิธีการตั้งค่า SDK Sentry บน Platforms .NET

    Step 1 ตั้งค่า Web.config

    เพิ่ม key “SentryDsn” และค่า value ได้มาจาก Project Settings>Client Keys

    Step 2 ตั้งค่า Global.asax.cs

    2.1 เรียก library sentry ที่ต้องใช้งาน

    2.2 ตั้งค่า Application_Start

    2.3 ตั้งค่า Application_BeginRequest

    2.4 ตั้งค่า Application_EndRequest

    2.5 ตั้งค่า Application_Error

    2.6 ตั้งค่า Application_End

    Step 3 ทดสอบรันเวบ และเปิด projects ใน Sentry

    เมื่อทดสอบรันเวบ ระบบรับสมัครนักศึกษาออนไลน์ (PSU Admission) จะเห็น Latest Releases ถ้าเลขเวอร์ชันตรงกับที่รัน แสดงว่าติดตั้งสำเร็จ

    หวังว่า km จะมีประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะคะ

    ที่มา https://docs.sentry.io/platforms/dotnet/guides/aspnet/

  • เปลี่ยน iPad เป็นหน้าจอเสริมไร้สายสำหรับ PC/Notebook (Windows)

    ในปัจจุบัน iPad เรียกว่าเป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานในชีวิตประจำวันของใครหลายๆคน แต่บางครั้งซื้อ iPad มาแล้วรู้สึกว่ายังใช้งานไม่คุ้มค่า ไม่ค่อยได้หยิบมาเล่นเพราะต้องใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงานมากกว่า

    แล้วถ้าเราสามารถเอา iPad มาใช้ประโยชน์เพิ่มเป็นจอเสริมพกพา เชื่อมต่อแบบไร้สาย มีแบตเตอรี่ในตัวใช้งานได้สบายๆ หลายชม.แบบไม่ต้องเสียบสายชาร์จ แถมยังใช้ความสามารถขอจอทัชสกรีน apple pencil ได้ น่าจะใช้งานได้คุ้มค่ามากยิ่งขึ้น

    ถ้าทำงานในฝั่งของ Mac OS สามารถใช้งาน iPad เป็นจอเสริมได้ทันทีโดยไม่ต้องติดตั้งโปรแกรมเพิ่มเติม แต่ถ้าฝั่งของ Windows เราจำเป็นต้องติดตั้งโปรแกรมเพิ่มเติม(Freeware) ที่ชื่อว่า “ Spacedesk “ โดยจะต้องติดตั้งทั้งใน Notebook และ iPad

    Download Spacedesk : https://www.spacedesk.net/

    โปรแกรมรองรับการใช้งานบน Windows 8.1/10/11

    Notebook/PC

    เมื่อทำการติดตั้งโปรแกรมบน Windows แล้วให้เปิดโปรแกรม Spacedesk จากช่อง Search หรือจาก Taskbar ก็ได้

    ให้ตรวจสอบ IP ที่ Notebook ทำการเชื่อมต่อ WIFI (เนื่องจากทั้ง Notebook และ iPad ต้องเชื่อมต่ออยู่บนเครือข่ายเดียวกัน)

    iPad/Tablet

    เมื่อติดตั้ง Spacedesk บน iPad แล้วให้กดเพิ่ม IP ของ Notebook ตามรูป

    เมื่อตรวจสอบที่โปรแกรมฝั่ง Notebook จะแสดงสถานะการเชื่อมต่อดังรูป

    และข้อดีอีกอย่างของการใช้งาน iPad เป็นจอเสริมคือคือการใช้ความสามารถของการ Touch Screen และ Apple Pencil บน Windows ได้

  • Data cleansing ทำให้ข้อมูลสะอาดก่อนเอาไปใช้/วิเคราะห์

    Data cleansing เป็นส่วนสำคัญในการทำ ETL (Extract, Transform, Load) data cleansing process เป็นกระบวนการที่เกี่ยวกับ การระบุและ แก้ไขหรือลบ ข้อผิดพลาด ความไม่สอดคล้องหรือความไม่แม่นยำในข้อมูลก่อนที่จะโหลดเข้าสู่ที่เก็บข้อมูล

    ขั้นตอนการทำ Data cleansing ประกอบด้วยขั้นตอนดังนี้

    1. Data Profiling: เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อระบุปัญหาด้านคุณภาพหรือความไม่สอดคล้องกันที่ต้องได้รับการแก้ไข
    2. Data Standardization: ในขั้นตอนนี้ ข้อมูลจะถูกทำให้เป็นมาตรฐานในรูปแบบทั่วไปหรือเป็นมาตารฐานสากล รวมถึง format ต่างๆ เช่น รูปแบบวันที่ ชื่อย่อ ชื่อเต็ม กำหนดค่าทางการเงินที่มีหน่วยนับเดี่ยวกันทั้งหมด
    3. Data Parsing: การแยกข้อมูลออกเป็นฟิลด์หรือคอลัมน์เพื่อให้สามารถวิเคราะห์และประมวลผลเพิ่มเติมได้
    4. Data Transformation: ขั้นตอนนี้เกี่ยวข้องกับการแปลงข้อมูลเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งรวมถึงการแปลงชนิดข้อมูล การคำนวณข้อมูล และการรวมข้อมูล
    5. Data Enrichment: เป็นการเพิ่มข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ เพื่อความสมบูรณ์ของการวิเคราะห์
    6. Data Deduplication: ในขั้นตอนนี้ records ที่ซ้ำกันจะถูกระบุและลบหรือผสานเพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลมีความถูกต้อง
    7. Data Validation: ขั้นตอนนี้เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลตามกฎเกณฑ์ ข้อจำกัด และข้อมูลอ้างอิงเพื่อให้แน่ใจว่าตรงตามมาตรฐานคุณภาพที่กำหนด
    8. Documentations : การจัดทำเอกสารประกอบการจัดทำ Data cleansing
    9. Monitoring : การตรวจสอบข้อมูลให้เป็นไปตามมาตราฐานที่ว่างไว้อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีขั้นตอนไหนผิดพลาด

    data cleansing ทำให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ผ่านกระบวนการ ETL ไปยังที่เก็บข้อมูลต้องมี accurate consistent และ reliable โดยเป็นไปตามกฏเกณฑ์ที่ตั้งไว้ตามมาตราฐานขององค์กรหรือตามมาตราฐานสากล


    Data Profiling

    การประมวลผลข้อมูล (Data Profiling) เป็นขั้นตอนสำคัญในกระบวนการ ETL (Extract, Transform, Load) ซึ่งเป็นการวิเคราะห์คุณภาพ โครงสร้าง และเนื้อหาของข้อมูลเพื่อตรวจสอบปัญหาหรือความไม่สอดคล้องที่ต้องการแก้ไขก่อนการโหลดข้อมูลเข้าสู่ระบบเป้าหมาย ขั้นตอนดังกล่าวประกอบไปด้วย:

    1. ระบุแหล่งข้อมูล: ขั้นตอนแรกคือการระบุแหล่งข้อมูลที่ต้องการประมวลผล ซึ่งสามารถเป็นฐานข้อมูล ไฟล์แบบแฟลต บริการเว็บ และแหล่งข้อมูลอื่นๆ
    2. กำหนดกฏการประมวลผลข้อมูล: เมื่อระบุแหล่งข้อมูลแล้ว จำเป็นต้องกำหนดกฏการประมวลผลข้อมูล
    3. เลือกเครื่องมือประมวลผลข้อมูล: มีเครื่องมือประมวลผลข้อมูลหลายตัวที่ใช้งานได้ในตลาด สามารถเลือกเครื่องมือที่เหมาะสมกับความต้องการและงบประมาณขององค์กร
    4. กำหนดค่าเครื่องมือการโปรไฟล์ข้อมูล: กำหนดค่าเครื่องมือการโปรไฟล์ข้อมูลให้เชื่อมต่อกับแหล่งข้อมูลและเก็บข้อมูลที่ต้องการสำหรับการวิเคราะห์ กำหนดกฎและตัวชี้วัดสำหรับการโปรไฟล์ข้อมูลรวมถึงความสมบูรณ์ของข้อมูล ความแม่นยำของข้อมูล ความสอดคล้องของข้อมูล และเวลาที่เป็นไปตามกำหนด
    5. รันกระบวนการโปรไฟล์ข้อมูล: เมื่อเครื่องมือการโปรไฟล์ข้อมูลได้ถูกกำหนดค่า จะต้องรันกระบวนการโปรไฟล์ข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลและสร้างรายงานโปรไฟล์ วิเคราะห์รายงานเพื่อระบุปัญหาคุณภาพข้อมูล เช่นข้อมูลที่ขาดหายไป เร็คคอร์ดที่ซ้ำกัน หรือค่าข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกัน
    6. แก้ไขปัญหาคุณภาพข้อมูล: โดยอิงตามรายงานการโปรไฟล์ข้อมูล จะต้องแก้ไขปัญหาคุณภาพข้อมูลโดยพัฒนากฎการทำความสะอาดข้อมูลหรือทำการเปลี่ยนแปลงในแหล่งข้อมูลหรือกระบวนการ ETL เพื่อให้ข้อมูลสะอาดและถูกแปลงตามกฎธุรกิจและความต้องการ
    7. ตรวจสอบคุณภาพข้อมูล: ตรวจสอบคุณภาพข้อมูลอย่างต่อเนื่องและทำการวิเคราะห์ข้อมูลอีกครั้งเพื่อตรวจสอบว่าข้อมูลยังคงถูกต้องและสอดคล้องกันตลอดเวลา

    โดยรวมแล้ว การทำ Data profiling เป็นขั้นตอนสำคัญในกระบวนการ ETL เนื่องจากมันช่วยให้มั่นใจได้ว่าข้อมูลที่โหลดเข้าระบบเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง สอดคล้องกัน และเชื่อถือได้ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการตัดสินใจทางธุรกิจ


    Data Standardization

    จัดข้อมูลให้เข้ากับมาตราฐานองค์กรหรือมาตราฐานสากล ตัวอย่างมาตราฐานข้อมูลของไทย

    คู่มือการจัดทํามาตรฐานเพื่อการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ
    Data Standardization for e-Government Interoperability Manual


    Data Parsing

    เป็นกระบวนการแปลงข้อมูลจากรูปแบบหนึ่งไปเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง เช่น ที่อยู่ จะแยกออกเป็น บ้านเลขที่ ตำบล อำเภอ จังหวัด เป็นต้น การแยกวิเคราะห์ข้อมูลสามารถใช้เพื่อดึงข้อมูลจากแหล่งต่างๆ

    มีหลายวิธีในการทำ Data Parsing วิธีการหนึ่งที่ใช้กันทั่วไปคือการใช้ parser generator สำหรับแปลงรูปแบบข้อมูลเฉพาะ เมื่อสร้างโปรแกรมแยกวิเคราะห์แล้ว สามารถใช้เพื่อแยกวิเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ได้

    อีกวิธีหนึ่งในการทำ Data Parsing คือการใช้ library หรือ API ทั้งทำเองหรือเอาที่ท่านอื่นๆทำไว้แล้ว


    Data Transformation

    เปลี่ยนข้อมูลไปเป็นรูปแบบที่ต้องการ โดยใช้รูปแบบดังนี้

    1.ใช้ data dictionary เพื่อให้ตรงกันทั้งหมด เช่น ตัวย่อ กทม. กรุงเทพฯ เป็นต้น
    2.ใช้ data validation tool เพื่อความถูกต้อง (accurate)
    3.ใช้ data quality tool เพื่อระบุและแก้ไขข้อผิดพลาดในข้อมูล (correct errors)
    4.ใช้ data transformation tool ทำงานเอง


    Data Enrichment

    กระบวนการเติมข้อมูลหรือการทำให้ข้อมูลที่เรามีอยู่แล้วสมบูรณ์ขึ้น โดยมาเป็นข้อมูลจากภายนอกหรือจากแหล่งอื่นๆ เช่น มีข้อมูลการลงทะเบียนของนักศึกษาอยู่ แล้วเอาข้อมูลการได้รับทุนกับข้อมูลการกู้ยืมมาประกอบ มาเติ่มทำให้มิติของการวิเคราะห์หรือมุมมองเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น


    Data Deduplication

    การตรวจสอบการซ้ำกันของข้อมูลทำได้โดยการเขียน Query ตรวจสอบหรือใช้เครื่องมือกลุ่ม data profiling, data quality ช่วยก็จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ


    Data Validation

    การตรวจสอบความถูกต้องและครบถ้วนของข้อมูล ส่วนใหญ่จะทำโดยการทำ Data aggregation ข้อมูลต้นทาง ปลายทาง เหมือนเป็นการตรวจสอบกระบวนการที่ทำมาว่าถูกต้องตามกฏเกณฑ์ที่ว่างไว้หรือไม่


    Documentations

    การเขียนเอกสารการทำความสะอาดข้อมูลเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการทำความสะอาดข้อมูล มันช่วยให้แน่ใจว่ากระบวนการทำความสะอาดข้อมูลสามารถทำซ้ำได้และมีประสิทธิภาพ การเขียนเอกสารควรรวมข้อมูลดังนี้:

    1. วัตถุประสงค์ของการทำความสะอาดข้อมูล
    2. ขอบเขตของการทำความสะอาดข้อมูล ต้องทำอะไรบ้าง column ไหนทำอะไร
    3. แหล่งข้อมูลที่จะนำมาใช้ ระบุแหล่งข้อมูลมาจากที่แหล่ง อะไรบ้าง ข้อจำกัดต่างๆที่มี
    4. วิธีการทำความสะอาดข้อมูลที่จะใช้
    5. เครื่องมือที่ใช้ในการทำความสะอาดข้อมูล
    6. ขั้นตอนการทำความสะอาดข้อมูล เขียนให้ชัดเจนทำอะไรกับ column ไหนบ้าง
    7. ผลลัพธ์ของการทำความสะอาดข้อมูล
    8. ตัวชี้วัดของการทำความสะอาดข้อมูล ผลที่เกิดจากการทำความสะอาดข้อมูล เช่น เปลี่ยนค่าไปกี่ records แทนข้อมูลไปกี่ record

    การเขียนเอกสารการทำความสะอาดข้อมูลควรเขียนอย่างชัดเจนและกระชับ และควรเข้าใจและสามารถติดตามได้ง่าย การเอกสารควรอัพเดทเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในโครงการทำความสะอาดข้อมูลด้วย

    เคล็ดลับสำหรับการเขียนเอกสารการทำความสะอาดข้อมูล:

    1. เริ่มต้นด้วยการระบุวัตถุประสงค์ของโครงการทำความสะอาดข้อมูล คุณต้องการทำอะไรในการทำความสะอาดข้อมูล?
    2. ระบุขอบเขตของโครงการได้ คุณจะทำความสะอาดข้อมูลอะไรบ้าง อย่างไร?
    3. ระบุแหล่งข้อมูลที่จะใช้ ข้อมูลนี้มาจากไหนบ้างกี่แหล่งข้อมูล ?
    4. ระบุวิธีการทำความสะอาดข้อมูลที่จะใช้ คุณจะใช้วิธีการใดในการทำความสะอาดข้อมูล?
    5. เครื่องมือที่จะใช้เพื่อทำความสะอาดข้อมูล?
    6. เขียนขั้นตอนการทำความสะอาดข้อมูลเป็นเหมือนกฏเกณฑ์ไว้?
    7. เขียนผลลัพธ์เป้าหมายที่จะได้รับหลังทำความสะอาดข้อมูล?
    8. สรุปผลการทำความสะอาดข้อมูลทำงานได้ดีแค่ไหน โดยการระบุจำนวนข้อมูลที่ดำเนินการสำเร็จ ไม่สำเร็จ ต่างๆ?

    Monitoring

    เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยติดตามการทำ data cleansing เป็นไปตามกฏหรือผลลัพธ์ที่ต้องการ ตรวจสอบ error log มีข้อมูลส่วนไหนมีปัญหาดำเนินการไม่ได้บ้าง อาจจะทำเป็น Dashboard สำหรับ Monitoring Data Cleansing Process แสดงวันเวลาดำเนินการ ผลลัพธ์สำเร็จหรือ error เท่าไร เป็นต้น


    Check List

    1. Check for missing values: ค่าที่ไม่ควรมีหรือ NULL ค่าที่ผิดต้องมี Data Standardization เป็นมาตราฐาน
    2. Check for duplicates: records ที่ซ้ำซ้อนกัน
    3. Check for outliers: data นอกช่วงที่ควรจะเป็นไม่ว่าจะเป็น อายุ วันที่ หรือ ช่วงเงินเดือนเป็นต้น วิธีการหา Outliers โดยการ Sort data มองหาค่าเกิดขอบเขต หรือ Graphing พวก Boxplots, Histograms  หาความสุดโต้งของข้อมูล
    4. Check data types: ตรวจสอบชนิดของข้อมูลต้องตรงกัน
    5. Check for inconsistent data: คือ การตรวจสอบข้อมูลที่มาจากหลายๆ แหล่งข้อมูลและมีความไม่ตรงกันทั้งๆที่เป็นข้อมูลชุดเดียวกัน
    6. Check for valid ranges: ช่วงของข้อมูลที่ควรจะเป็น
    7. Check for appropriate formatting: รูปแบบของข้อมูล เช่น วันที่แบบ พ.ศ. หรือ ค.ศ. หน่วยของเงิน หน่วยของส่วนสูง หรือน้ำหนัก เป็นต้น
    8. Check for missing or incorrect relationships: ข้อมูลที่มีการอ้างอิง เช่น foreign key ต้องตรวจสอบให้สามารถอ้างอิงกันได้จริงและถูกต้อง
    9. Check for errors in calculations: การคำนวนที่มีความไม่ถูกต้อง
    10. Check for documentation: สุดท้ายต้องตรวจสอบเอกสารที่ทำว่า update เป็นปัจจุบันหรือไม่

    ทั้งหมดนี้ก็คืองานที่ต้องทำและต้องตรวจสอบสำหรับการทำ Data cleansing ซึ่งเป็นกระบวนการที่ไม่รู้จบ ทำวนไปเพื่อรักษาความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูลไปจนกว่าไม่มีใครใช้ข้อมูลนั้นอีกแล้ว

    ขอบคุณสำหรับการเข้ามาอ่านบทความนี้นะครับ บันทึกไว้เพื่อช่วยจำในการทำงาน ถ้าผิดพลาดประการใด สามารถ comment แนะนำได้นะครับ

  • มารู้จักวิธีการบันทึกข้อมูลจาก Microsoft Form ลง List ใน SharePoint ด้วยเจ้าเครื่องมือ Power Automate กันเถอะ (EP.2 : ลงมือสร้าง Flow ด้วย Power Automate)

                หลังจากที่ EP. ที่แล้ว เราได้มีการเตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์ทั้งในส่วนของแบบฟอร์มที่จะใช้ในการกรอกข้อมูล และลิสต์ที่ใช้ในการเก็บข้อมูลกันไปแล้ว แต่ถ้าใครยังไม่เคยอ่าน สามารถติดตามได้ที่ลิงค์นี้นะคะ มารู้จักวิธีการบันทึกข้อมูลจาก Microsoft Form ลง List ใน SharePoint ด้วยเจ้าเครื่องมือ Power Automate กันเถอะ (EP.1 : ขั้นตอนการเตรียมตัว) และมาถึง EP.นี้ ก็ได้เวลาลงมือสร้าง Flow ที่จะควบคุมการทำงานแบบอัตโนมัติ ที่จะช่วยลดขั้นตอนการทำงานให้กับเราได้โดยที่เราไม่ต้องลงมือเองกันแล้ว และเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เรามาเริ่มขั้นตอนต่อไปกันเลยดีกว่านะคะ

    ขั้นตอนการสร้าง Flow โดยใช้ Power Automate 

    1.ไปยัง Power Automate เพื่อสร้าง Flow การทำงานที่เราต้องการ โดยการกดปุ่ม เพื่อเลือก Apps ที่เป็น Power Automate จาก Microsoft 365 ที่เราต้องการเช่นเคยค่ะ


    2. สร้าง Flow : โดยการกดปุ่ม Create ที่ฝั่งซ้ายมือ และเลือกรูปแบบ Flow ที่ต้องการ ซึ่งมีทั้งแบบที่สร้างใหม่ด้วยตนเองและสร้างจากต้นแบบที่มีก็ได้ แต่สำหรับกรณีนี้ขอเลือกแบบ Automated cloud flow นะคะ


    3. ระบุชื่อ Flow และเหตุการณ์ที่ต้องการให้ทำงานอัตโนมัติ : เมื่อเลือกรูปแบบ Flow ที่ต้องการได้แล้ว เราจะต้องตั้งชื่อ Flow และทำการเลือกเหตุการณ์ที่เราต้องการให้ระบบทำงานอัตโนมัติกันค่ะ ซึ่งในที่นี้ขอเลือกเป็นเหตุการณ์ที่แบบฟอร์มมีการบันทึกข้อมูล หรือตัวเลือก “When a new response is submitted” ตามภาพค่ะ


    4. เลือกแบบฟอร์มที่จะใช้ในการบันทึกข้อมูล : หลังจากระบุเหตุการณ์เรียบร้อยแล้ว เราจะต้องทำการเลือกแบบฟอร์มที่เราสนใจหลังมีการบันทึกข้อมูล โดยเลือกระบุในค่า Form Id โดยระบบจะแสดงตัวเลือกแบบฟอร์มที่เราสร้างขึ้นไว้ทั้งหมดมาให้เลือก ในที่นี้ขอเลือก “แบบฟอร์มยืมอุปกรณ์ในหน่วยงาน” นะคะ


    5. สร้างขั้นตอนถัดไป : หลังจากเลือกแบบฟอร์มที่เราต้องการนำข้อมูลมาบันทึกเรียบร้อยแล้ว ให้เลือก New Step เพื่อกำหนดขั้นตอนการทำงานขั้นต่อไป ตามภาพค่ะ


    6. ระบุเนื้อหาที่ต้องการใช้งาน : โดยขั้นตอนการทำงานต่อไปที่เราต้องดำเนินการก็คือ การนำเนื้อหาของแบบฟอร์มที่เราต้องการมาใช้งานค่ะ โดยเราจะต้องเลือก “Get response details” ซึ่งขอแนะนำวิธีในการค้นหาให้ง่ายขึ้นโดยการใส่คำค้น “Microsoft Form” ลงไป เพื่อให้ค้นหาได้ง่ายขึ้น เนื่องจากแบบฟอร์มของเราเป็น Microsoft Form นั่นเอง แต่หากแบบฟอร์มที่ท่านต้องการใช้เป็นชนิดอื่น ก็สามารถค้นหาตามชนิดนั้นๆได้ค่ะ


    7. ระบุแบบฟอร์มและ Response Id : หลังจากนั้น ระบบจะแสดงหน้าจอให้ทำการระบุแบบฟอร์มที่ต้องการเอาเนื้อหาข้อมูลมาใช้งาน และกำหนด Response Id


    8. การระบุแบบฟอ์มทำเช่นเดียวกับที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น หลังจากนั้นให้ทำการเลือก Response Id จากแบบฟอร์ม ตามภาพได้เลยค่ะ


    9. เมื่อกำหนดค่าต่างๆเรียบร้อยแล้ว จะได้ผลลัพธ์ดังภาพ ให้ทำการสร้างขั้นตอนถัดไป โดยการกดปุ่ม New Step เพื่อจัดการขั้นต่อไปกันเลยค่ะ


    10. ระบุ SharePoint และลิสต์ที่ใช้ในการบันทึกข้อมูล : ขั้นตอนถัดมา ถึงเวลาที่เราจะต้องระบุว่าข้อมูลจากแบบฟอร์มที่เราระบุในขั้นตอนก่อนหน้านี้จะนำไปบันทึกลงที่ใด โดยในที่นี้จะบันทึกลงลิสต์ใน SharePoint ที่เราเตรียมไว้กันนะคะ โดยการใช้คำค้น “Sharepoint” และเลือก “Create Item” เพื่อให้ข้อมูลจากแบบฟอร์มที่เราได้มาถูกบันทึกลงในลิสต์ใน Share Point ที่เราต้องการกันค่ะ


    11. โปรแกรมจะให้เราระบุไซต์ของ Share Point และลิสต์ที่เราต้องการเก็บข้อมูล


    12. ระบุไซท์ใน SharePoit : เลือกไซต์ Share Point ซึ่งเป็นที่อยู่ของลิสต์ที่เราเตรียมไว้ในการเก็บข้อมูลให้ถูกต้อง


    13. ระบุลิสต์ที่ต้องการเก็บข้อมูล : เลือกลิสต์ที่จะใช้ในการเก็บข้อมูลจากแบบฟอร์ม ในกรณีนี้ขอเลือกลิสต์ที่ชื่อว่า “การยืม-คืนอุปกรณ์ในหน่วยงาน” ตามที่ได้สร้างไว้ในขั้นตอนที่ 2 ข้างต้น


    14. จับคู่คอลัมน์ในลิสต์กับข้อมูลในแบบฟอร์มที่ต้องการบันทึกข้อมูล : หลังจากนั้น โปรแกรมจะให้เราทำการจับคู่คอลัมน์ในลิสต์กับข้อมูลจากแบบฟอร์มที่เราสร้างขึ้น ว่าต้องการให้ข้อมูลจากแบบฟอร์มส่วนไหนถูกบันทึกลงในคอลัมน์ใด โดยข้อมูลจากแบบฟอร์มจะอยู่ฝั่งขวามือเพื่อให้เราเลือกมาใส่ในแต่ละคอลัมน์ของลิสต์ ตามภาพค่ะ


    15. หลังจากที่เราจับคู่คอลัมน์กับข้อมูลในแบบฟอร์มเรียบร้อยแล้ว จะได้ผลลัพธ์ดังภาพ


    16. บันทึก Flow ที่สร้าง : หลังจากนั้นให้ทำการบันทึกข้อมูล Flow ที่เราสร้างขึ้นให้เรียบร้อย โดยการกดปุ่ม Save ที่อยู่ฝั่งขวามือ


    17. เมื่อบันทึกข้อมูลเรียบร้อยแล้ว จะขึ้นแถบสีเขียวแสดงให้ทราบว่าการบันทึกเสร็จสมบูรณ์ เพียงเท่านี้เราก็จะได้ Flow การบันทึกข้อมูลจากแบบฟอร์มมาลงลิสต์ใน Share Point ของเราโดยไม่ต้อง import ข้อมูลใหม่ให้เสียเวลาค่ะ

    ตัวอย่างการนำไปใช้งานและผลลัพธ์

    1. เปิดให้มีการกรอกแบบฟอร์มโดยนำลิงค์ตามที่ได้แนะนำไว้ข้างต้นมาใช้ ซึ่งจะแสดงแบบฟอร์มให้กรอกข้อมูลตามภาพ

    2. เมื่อทำการบันทึก หรือกดปุ่ม Submit ข้อมูลที่กรอกในแบบฟอร์มจะถูกบันทึกในลิสต์ที่อยู่ใน Share Point ที่ชื่อว่า “การยืม-คืนอุปกรณ์ในหน่วยงาน” ที่เราเตรียมไว้ให้โดยอัตโนมัติ ดังภาพ

                   เพียงเท่านี้ ท่านก็จะมีข้อมูลที่ต้องการเก็บไว้ในลิสต์จากแบบฟอร์มที่ผู้ใช้กรอกมา โดยที่ไม่ต้องทำงานซ้ำซ้อนในการนำเข้าข้อมูลอีกต่อไป แถมยังลดการใช้กระดาษได้อีกด้วยนะคะ ซึ่งวิธีการข้างต้นนี้ เป็นเพียงหนึ่งในวิธีที่หวังว่าจะช่วยให้การทำงานของผู้ที่ต้องทำงานกับแบบฟอร์มอยู่แล้วง่ายขึ้น และสามารถลดขั้นตอนการดำเนินการที่มีในปัจจุบันไม่มากก็น้อยนะคะ แต่จริงๆแล้วเจ้า Power Automate ยังมีความสามารถที่หลากหลาย และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในอีกหลายทางเลยค่ะ อย่าลืมไปลองใช้งานและลองเล่นกันดูนะคะ ขอบคุณที่ติดตามเช่นเคยนะคะ ไว้เจอกันใหม่ในบทความหน้าค่ะ ^^v

  • มารู้จักวิธีการบันทึกข้อมูลจาก Microsoft Form ลง List ใน SharePoint ด้วยเจ้าเครื่องมือ Power Automate กันเถอะ (EP.1 : ขั้นตอนการเตรียมตัว)

                   ในปัจจุบันพบว่า มีการใช้งานแบบฟอร์มในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น เพื่อความสะดวก และลดการใช้ทรัพยากรกระดาษ ไม่ว่าจะเป็น Google Form หรือ Microsoft form เพื่อรับข้อมูลจากผู้ใช้ เนื่องจากใช้งานง่าย และสะดวก และทำให้ผู้ที่กรอกข้อมูล สามารถกรอกข้อมูลได้จากที่ใดก็ได้โดยไม่ต้องอาศัยการกรอกแบบฟอร์มกระดาษอย่างแต่ก่อน แต่ในส่วนของการเก็บข้อมูลและการนำไปใช้ก็อาจจะมีวิธีการจัดการที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งโดยปกติแบบฟอร์มออนไลน์เหล่านี้ก็จะสามารถ Export ข้อมูลออกมาในรูปแบบไฟล์ Excel หรือ CSV ได้อยู่แล้ว แต่สำหรับบทความนี้ ผู้เขียนจะขอหยิบยกวิธีการเก็บข้อมูลจาก Microsoft form มาเก็บในลิสต์(List) ซึ่งเป็นเปรียบเสมือนฐานข้อมูลหรือตารางที่ใช้เก็บข้อมูลใน SharePoint  โดยที่ไม่ต้องมา Import ข้อมูลจากไฟล์ Excel หรือ CSV ที่เรานำมาจากแบบฟอร์มอีก ซึ่งเราจะใช้ตัวช่วยที่ชื่อว่า Power Automate เพื่อมาลดขั้นตอนการทำงานเหล่านี้ให้กับเรากันค่ะ

                   โดยก่อนที่เราจะเริ่มเรียนรู้วิธีการบันทึกข้อมูลดังกล่าว สิ่งที่เราจะต้องมีเพื่อให้ภารกิจของเราสำเร็จลุล่วง นั่นก็คือ

    1. แบบฟอร์ม Microsoft Form ที่ใช้ในการกรอก
    2. ลิสต์ใน SharePoint ที่ใช้ในการเก็บข้อมูลจากแบบฟอร์ม
    3. Flow ที่สร้างจาก Power Automate ที่ใช้ในการบันทึกข้อมูลจากแบบฟอร์มลงในลิสต์นั่นเองค่ะ

    หมายเหตุ : ในบทความนี้ ผู้ใช้จะไม่ขอลงรายละเอียดในส่วนของการสร้างฟอร์ม และลิสต์ที่ใช้เก็บข้อมูลใน SharePoint แต่จะขอเน้นไปที่วิธีการสร้าง Flow ใน Power Automate เพื่อบันทึกข้อมูลแทนนะคะ และการใช้งาน Microsoft Form SharePoint และ Power Automate จริงๆแล้วสามารถเข้าใช้งานได้จากหลายช่องทาง แต่ในตัวอย่างนี้จะใช้ผ่าน Office 365 นะคะ

                   โดยใน EP. นี้จะเป็นขั้นตอนการจัดเตรียมอุปกรณ์ในข้อ 1 และ 2 ให้เรียบร้อยก่อน จึงจะไปสร้าง Flow ในขั้นตอนที่ 3 ให้โปรแกรมทำงานอัตโนมัติกันใน EP. ถัดไปนะคะ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เรามาเริ่มขั้นตอนการจัดเตรียมเครื่องมือใน 2 ขั้นตอนแรก กันเลยดีกว่าค่ะ

    ขั้นตอนที่ 1 : การจัดเตรียมแบบฟอร์ม Microsoft Form โดยเราจะเตรียมและสร้างแบบฟอร์ม Microsoft Form ที่ต้องการให้เรียบร้อย ซึ่งจะต้องมีการระบุชนิดและการบังคับกรอกในข้อมูลแต่ละรายการให้ครบถ้วน โดยจะขอแนะนำวิธีการคร่าวๆ ดังนี้

    1.ไปยังแบบฟอร์ม โดยการกดปุ่มเพื่อเลือก Apps ที่เป็น Form จาก Microsoft 365 ที่เราต้องการกันค่ะ

    กดปุมเพื่อเลือก Apps ที่ต้องการใช้งานจาก Microsoft 365


    2. หลังจากนั้นจะแสดงรายการ App ใน Microsoft Office365 มาให้เลือก ในที่นี้ขอเลือก Form ดังภาพ


    3. จะปรากฎหน้าจอและปุ่มให้สร้างแบบฟอร์ม ให้กดลูกศร และเลือก New Form ตามภาพ

    หมายเหตุ : ในส่วนนี้ต้องระวัง เพราะหลายคนจะเลือกผิดเป็น New Quiz ต้องสังเกตให้ดีนะคะ


    4. หลังจากนั้นให้ทำการระบุข้อมูลที่ต้องกรอกในแบบฟอร์ม พร้อมระบุชนิด และการบังคับกรอกของข้อมูลให้เรียบร้อย และสามารถเลือกสไตล์ให้กับแบบฟอร์มของเราเพื่อเพิ่มความสวยงามได้ด้วยเช่นกันนะคะ โดยเริ่มจากการตั้งชื่อแบบฟอร์ม และกดปุ่ม Add new เพื่อเพิ่มข้อในแบบฟอร์มของเรากันค่ะ


    5. หากเราเคยมีการทำแบบฟอร์มและใส่หัวข้อก่อนหน้านี้ โปรแกรมจะดึงข้อมูลที่เราเคยทำไว้มาแนะนำ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับเรา กรณีที่ข้อมูลหัวข้อคล้ายๆกัน และไม่ต้องระบุใหม่ทั้งหมด โดยจะเลือกจากส่วนของ Recommended ค่ะ หรือเราจะเลือกสร้างใหม่เองก็ได้นะคะ


    6. ในกรณีที่ต้องการเพิ่มข้อใหม่ที่ไม่ได้มาจากส่วนของการแนะนำ(Recommended) โปรแกรมจะแสดงหน้าจอให้เราระบุค่าต่างๆ จะเห็นว่า ในการสร้างหัวข้อใหม่แต่ละรายการ เราสามารถระบุชนิดของข้อมูล ซึ่งมีให้เลือกหลายแบบ ดังภาพ


    7. หลังจากนั้น ให้ทำการระบุชื่อหัวข้อ และสามารถระบุค่าต่างๆได้ ดังนี้

    • ชื่อหัวข้อ
    • ระบุว่าเป็นข้อมูลที่ต้องบังคับกรอกหรือไม่
    • ระบุว่าต้องการให้เป็นหัวข้อที่มีการกรอกข้อมูลที่มีความยาวมากกว่า 1 บรรทัด เช่น ข้อมูลพวกรายละเอียดต่างๆ หรือไม่
    • การเลื่อนลำดับหัวข้อ โดยการกดลูกศรขึ้น-ลง หรือลากไปทั้งกล่องเพื่อไปยังลำดับที่ต้องการได้
    • การทำสำเนาหัวข้อ ในกรณีที่หัวข้อมีลักณะคล้ายกัน เพื่อประหยัดเวลาในการสร้างข้อใหม่
    • การลบหัวข้อ
      ดังภาพค่ะ

    8. หลังจากที่ได้สร้างแบบฟอร์มและกำหนดค่าต่างๆในแต่ละข้อของแบบฟอร์มเรียบร้อยแล้วจะได้ผลลัพธ์ดังภาพค่ะ

    ตัวอย่างของแบบฟอร์มที่ใช้ในการกรอกข้อมูลในมุมมองของผู้กรอก

    1. ตัวอย่างผลลัพธ์แบบฟอร์มหน้าแรก


    2. ตัวอย่างหน้าจอการกรอกข้อมูลในแบบฟอร์ม


    เพิ่มเติม ท่านสามารถ Copy ลิงค์ของฟอร์มไปใช้งาน ได้โดยการกดปุ่ม Collect Response ดังภาพ


                   ซึ่งจะปรากฏหน้าจอให้ระบุการตั้งค่าต่างๆเพิ่มเติม และเราสามารถ Copy ลิงค์ของฟอร์มเพื่อให้ผู้ใช้กรอกข้อมูล และสามารถทำเป็นลิงค์แบบสั้นได้ ดังภาพ

                   นอกจากนี้ ท่านยังสามารถระบุการตั้งค่าในส่วนของการกำหนดขอบเขตของผู้ที่จะมากรอกแบบฟอร์มว่าต้องเป็นคนในองค์กร หรือหน่วยงานหรือไม่ และต้องการให้เก็บข้อมูลชื่อผู้กรอกข้อมูล และสามารถกรอกข้อมูลได้คนละ 1 ครั้งต่อแบบฟอร์มหรือไม่ หรือจะระบุตัวบุคคลที่สามารถทำแบบฟอร์มนี้ก็ได้เช่นกันค่ะ ขึ้นอยู่กับความต้องการในการใช้งานแบบฟอร์มในแต่ละครั้ง และทั้งหมดนี้ก็จะเป็นวิธีการสร้างแบบฟอร์มอย่างคร่าวๆ เพื่อเตรียมนำไปใช้งานในขั้นตอนถัดไปกันค่ะ

    ขั้นตอนที่ 2 : การจัดเตรียมลิสต์ในการเก็บข้อมูล ที่มีใน SharePoint โดยมีการระบุชื่อและชนิดของแต่ละคอลัมน์ และต้องอย่าลืมว่าข้อมูลคอลัมน์แต่ละรายการในลิสต์ต้องสอดคล้องกับข้อมูลที่มีในแบบฟอร์มในขั้นตอนที่ 1. โดยวิธีการสร้างลิสต์ มีดังนี้

    1.ไปยัง SharePoint โดยการกดปุ่ม เพื่อเลือก Apps ที่เป็น SharePoint จาก Microsoft 365 ที่เราต้องการกันค่ะ


    2. หลังจากนั้นให้ทำการสร้างลิสต์ขึ้นมา  โดยการคลิกปุ่ม New และเลือก List ตามภาพ


    3. เลือกชนิดของลิสต์ที่ต้องการสร้าง ซึ่งจะเห็นว่าสามารถนำเข้าข้อมูลจากลิสต์ที่มีอยู่ หรือจากไฟล์ Excel และ CSV ได้ด้วย แต่ในกรณีเราจะสร้างจาก “Blank list” ตามภาพค่ะ


    4. ระบุชื่อของลิสต์ที่เราต้องการเก็บข้อมูล ในที่นี้จะขอระบุชื่อเป็น “การยืม-คืนอุปกรณ์ในหน่วยงาน” ดังภาพ


    5. จากนั้นสร้างคอลัมน์ และระบุชนิดของข้อมูลที่ต้องการเก็บข้อมูล โดยการกดปุ่ม Add column และต้องอย่าลืมว่า คอลัมน์ที่ใช้ในการเก็บข้อมูลนี้ต้อง สอดคล้อง กับข้อมูลที่กรอกในแบบฟอร์มที่เราสร้างในขั้นตอนที่ 1 ด้วยนะคะ และแนะนำให้ตั้งชื่อให้สื่อความหมายกับข้อมูลที่เก็บเพื่อง่ายต่อการนำไปใช้ และลดความสับสนได้ค่ะ


    6. โปรแกรมจะขึ้นหน้าจอให้เราระบุชนิดของข้อมูลในคอลัมน์ที่เราต้องการจะเพิ่ม ดังภาพค่ะ


    7. จากนั้น โปรแกรมจะให้เราระบุรายละเอียดของคอลัมน์ที่ต้องการเพิ่มเติม ซึ่งจะมีรายละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละชนิดของข้อมูล


    8. หลังจากที่เราสร้างคอลัมน์จนครบตามที่ต้องการแล้ว เราก็จะมีลิสต์ที่ใช้ในการเก็บข้อมูล ซึ่งเราสามารถเพิ่มเติมหรือแก้ไขในภายหลังได้ ดังภาพค่ะ


    9. การจัดการข้อมูลในลิสต์ โดยปกติข้อมูลในลิสต์ เราสามารถเพิ่มได้โดยตรงจากหน้าลิสต์ในขั้นตอนต่างๆ อย่างสังเขป ดังนี้

    • การเพิ่มข้อมูล โดยการกดปุ่ม New ซึ่งจะแสดงหน้าจอให้กรอกข้อมูล ดังต่อไปนี้


                   นอกจากนี้ ยังสามารถเพิ่ม/แก้ไขข้อมูลได้โดยการกดปุ่ม Edit in grid view เพื่อจัดการข้อมูลในรูปแบบตาราง ซึ่งจะแสดงหน้าจอให้แก้ไขในอีกมุมมอง แล้วแต่ความถนัด ดังนี้


                   ท่านสามารถเพิ่มข้อมูลใหม่ในมุมมอง grid view ได้โดยการกดปุ่ม Add new item หากกรอกข้อมูลเรียบร้อยแล้ว สามารถกลับไปยังมุมมองแรกได้โดยการกดปุ่ม Exit grid view เพื่อกลับไปยังมุมมองการดูข้อมูลปกติดังนี้

    • การแก้ไขข้อมูลจากมุมมองดูข้อมูลทั่วไป สามารถทำได้หลายวิธี โดยการกดปุ่ม Edit หรือ Edit in grid view ตามที่ได้กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้ หรือ หากต้องการลบข้อมูล สามารถเลือกรายการที่ต้องการลบ และกดปุ่ม Delete ได้ตามภาพ

                    จะเห็นว่า ในลิสต์เองก็มีความสามารถในการจัดการข้อมูล เพิ่ม/แก้ไข/ลบได้ในตัวเองอยู่แล้ว แต่บทความที่ผู้เขียนหยิบยกมานี้ ได้มีการนำแบบฟอร์มมาใช้เป็นช่องทางให้ผู้ใช้กรอกข้อมูลเข้ามา เพื่อความสะดวก และใช้งานง่ายในการกรอกข้อมูลจากผู้ใช้นั่นเอง
                    และมาถึงตรงนี้เราก็จะมีทั้ง แบบฟอร์ม และ ลิสต์ ที่พร้อมจะใช้ในการเก็บข้อมูลกันแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็ถึงคราวที่เราต้องไปเตรียม Flow กันบ้าง แต่สำหรับการสร้าง Flow ที่จะใช้ในการบันทึกข้อมูลจากฟอร์มมาลงลิสต์ที่เตรียมไว้จะขอพูดถึงใน EP. ถัดไปละกันนะคะ(เนื่องจาก EP. นี้ก็เริ่มจะยาวเกินไปแล้ว) ไว้เจอกันใน EP.2 นะคะ ขอบคุณที่ติดตามอ่านจนจบ และหวังว่าจะพอเป็นประโยชน์กับทุกท่านนะคะ

  • Data Masking ให้รู้ว่ามีอยู่จริง แต่ขอปิดไว้นะ

    Data Masking เป็นวิธีการสร้างข้อมูลใน Version ที่มีโครงสร้างเหมือนกันในระดับชัดข้อมูล ตารางหรือ template ข้อมูล แต่มีการแปลงข้อมูลให้เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น รหัสนักศึกษา จาก 6600123 เป็น D2RT126 เป็นต้น และถ้า field หรือ Column มีคุณสมบัติเป็น Unique key ก็ต้องรักษาคุณสมบัตินั้นไว้ ซึ่งสามารถนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่น การทดสอบซอฟต์แวร์ การฝึกอบรมผู้ใช้ การส่งต่อให้ทีมงานอื่นๆไปทำงานต่อ แต่ไม่ต้องการให้เห็นข้อมูลที่แท้จริง และการเอาข้อมูลไปเผยเพร่ในรูปแบบ Open Data

    ทำ Data Masking เพื่อปกป้องข้อมูลจริงแต่ผลลัพธ์ต้องเหมือนกับชุดข้อมูลจริงต้นฉบับ เช่น ถ้านับจำนวนจากรหัสนักศึกษาจริง ก็ต้องมีผลเท่ากับที่นับจากจำนวนรหัส masking ที่จัดทำขึ้น

    เมื่อกฏหมาย PDPA มีบทลงโทษที่ชัดเจนทางกฏหมาย การทำ Data Masking ก็เป็นช่องทางที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการทำให้ข้อมูลรั่วไหลไปโดยไม่ได้ตั้งใจ

    Data masking ต่างจาก encryption ตรง Encrypted สามารถ decrypted ได้ข้อมูลกลับมาเหมือนเดิม และอาจจะทำให้ไม่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลบางจำพวกได้เมื่อ Encrypted ข้อมูลไปแล้ว เช่น วันเกิด เป็นต้น แต่ Masked Data จะต้องไม่มี algorithm ไหนนำกลับข้อมูลให้เหมือนต้นฉบับได้ ไม่สามารถ reverse engineered ได้ และไม่สามารถใช้ความสามารถทางสถิติในการระบุตัวบุคคลได้ เช่นการเอาข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้มาประกอบขึ้นเพื่อระบุว่าเป็นข้อมูลของใครคนใดคนหนึ่งได้

    เทคนิคการทำ Data Masking

    Scrambling การเข้ารหัสแบบสุ่ม เป็นการสร้างความยุ่งเหยิงให้ข้อมูล

    Substitution เทคนิคนี้จะแทนที่ข้อมูลเดิมด้วยค่าอื่นจากการหาค่าที่น่าเชื่อถือและเป็นค่าประเภทเดียวกับข้อมูลที่แทนที่ โดยสร้างตารางข้อมูลที่จะใช้เพื่อแทนข้อมูลต้นฉบับ ต้องมีการตั้งกฎเพื่อรักษาลักษณะเดิมของข้อมูลไว้

    การใช้การแทนที่ทำได้ยากกว่าการเข้ารหัสข้อมูล แต่สามารถนำไปใช้กับข้อมูลหลายประเภทและให้ความปลอดภัยที่ดี ตัวอย่างเช่น คุณสามารถแทนที่หมายเลขบัตรเครดิตด้วยหมายเลขที่ผ่านกฎการตรวจสอบของผู้ให้บริการบัตร

    Shuffling การสับเปลี่ยนข้อมูลโดยการสุ่ม เช่นการสลับนามสกุลของลูกค้า

    Date aging วิธีนี้จะเพิ่มหรือลดฟิลด์วันที่ตามช่วงวันที่ที่ระบุไว้แล้วตามกฏที่ตั้งไว้

    Variance วิธีการนี้มักใช้เพื่อปกปิดข้อมูลมูลค่าทางการเงินและการทำธุรกรรมและข้อมูลวันที่ Algorithm ความแปรปรวนจะปรับเปลี่ยนตัวเลขหรือวันที่แต่ละคอลัมน์โดยสุ่มเป็นเปอร์เซ็นต์ของค่าจริง ตัวอย่างเช่น คอลัมน์ของเงินเดือนพนักงานอาจมีความแปรปรวนเป็นบวกหรือลบ 5% ที่ใช้กับคอลัมน์นั้น การทำเช่นนี้จะเป็นการปลอมแปลงข้อมูลที่สมเหตุสมผลในขณะที่รักษาช่วงและการกระจายของเงินเดือนให้อยู่ภายในขีดจำกัดที่มีอยู่

    Masking out การปิดบังจะแปลงค่าเพียงบางส่วนเท่านั้น และมักใช้กับหมายเลขบัตรเครดิตที่มองเห็นเพียงตัวเลขสี่หลักสุดท้ายเท่านั้น เดียวนี้เราน่าจะเห็นบ่อยๆ วันก่อนแม่เข้า รพ. ปกติบนกระดานในหอผู้ป่วยจะเขียนเบอร์โทรหมอไว้แบบพร้อมใช้งาน เดียวนี้จะเขียนไว้แค่ 3 ตัวหลังเท่านั้น

    Nullifying จะแทนที่ค่าจริงในคอลัมน์ข้อมูลด้วยค่า NULL ซึ่งจะเป็นการลบข้อมูลทั้งหมดออก แม้ว่าการลบประเภทนี้จะใช้งานได้ง่าย แต่ไม่สามารถใช้คอลัมน์ที่ไม่มีค่าในการค้นหาหรือการวิเคราะห์ได้ ส่งผลให้ความสมบูรณ์และคุณภาพของชุดข้อมูลสำหรับสภาพแวดล้อมการพัฒนาและการทดสอบลดลงได้

    ประเภทของ data masking

    Static data masking จะสร้างชุดข้อมูลที่ปิดบังแยกต่างหากจากฐานข้อมูลจริงในที่ใหม่ เช่น การวิจัย การพัฒนา และการสร้างแบบจำลอง ค่าข้อมูลที่ปกปิดต้องสร้างผลการทดสอบและการวิเคราะห์ที่สะท้อนข้อมูลต้นฉบับและคงอยู่เมื่อเวลาผ่านไปเพื่อให้แน่ใจว่าผลลัพธ์ที่ถูกต้องและทำซ้ำได้

    Dynamic data masking  เป็นการรักษาความปลอดภัยตามบทบาทโดยเฉพาะในระบบที่ใช้งานจริง เมื่อผู้ใช้ต้องการข้อมูลจริง Dynamic data masking จะแปลง บดบัง หรือบล็อกการเข้าถึงฟิลด์ข้อมูลที่ละเอียดอ่อนตามบทบาทของผู้ใช้ ตัวอย่างเช่น ต้องการใช้ข้อมูลนักศึกษาทั้วไปไม่จำเป็นที่ต้องให้เห็น รหัสบัตรประชาชน วันเดือนปีเกิด ก็ทำการปกปิดไป

    On-the-fly data masking เป็นการปกปิดข้อมูลในขณะโอนข้อมูลไปสู่อีกที่นึ่ง หรือไปอยู่ในฐานข้อมูลทดสอบต่าง ๆ  

    ความยากของการทำ Data Mask คือความซับซ้อนของข้อมูลที่นำมาทำตามรูปแบบข้างต้นที่ต้องรักษา Referential integrity * ไว้และยังต้องรักษากฏตาม Data governance policy ด้วย

    ดีต่อมหาวิทนาลัยอย่างไรเมื่อมีการใช้ Data masking

    1. ป้องกันการละเมิดข้อมูลและเพิ่มความปลอดภัยให้กับข้อมูล
    2. ทำ Data masking ก่อนการการพัฒนาระบบ การทดสอบ และการวิเคราะห์ ช่วยให้สามารถแชร์ข้อมูลสำคัญทั้งภายในและภายนอกได้ ในขณะที่ยังคงเป็นไปตามข้อบังคับ หรือ กฏหมาย PDPA
    3. ควบคุมการเข้าถึงข้อมูลอย่างเหมาะสมตามบทบาท
    4. ทำให้ผู้ใช้งานสบายใจและไม่ต้องกังวลเรื่องข้อมูลรั่วไหลแล้วต้องรับผิดชอบต่างๆนาๆ เพราะข้อมูลที่นำมาใช้งานได้ปกป้องผู้ใช้งานอยู่แล้ว อันนี้ดีสุด

    ข้อมูลประกอบอื่น ๆ

    * Referential integrity ทำให้ข้อมูลมีทั้ง consistent และ accurate โดยการจัดทำ foreign key ที่ต้องมีค่าข้อมูลในอีกตารางเท่านั้นถึงจะปรากฏในตารางปลายทางได้ การสร้าง Trigger หรือ stored procedure เพื่อควบคุมการทำ CRUD ข้อมูล

    ** Data sanitization เป็นกระบวนการลบ Sensitive Data หรือ Confidential Data จากฐานข้อมูลมีวิธีทำดังนี้

    1. Overwriting the data with random characters สร้างข้อมูลสุ่มมาแทนที่ข้อมูลเดินแบบไม่ให้สามารถย้อนหลังข้อมูลได้
    2. Degaussing การลบข้อมูลแบบใช้สนามแม่เหล็ก (powerful magnetic)
    3. Physical destruction เป็นการทำลายอุปกรณ์จัดเก็บไปเลย

    คำถามต่อไปที่จะหาคำตอบคือมี Tools อะไรมาช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดทำ Data Masking บ้าง ?

    อ้างอิงข้อมูลจาก

    Data Masking จากเว็บ https://www.techtarget.com/searchsecurity/definition/data-masking

    AI ที่ชื่อ Bard ของ Google : https://bard.google.com/

    AI ของ OpenAI : https://chat.openai.com/

  • โกง Online ก็ต้องฟ้อง Online ซิครับ

    ผมสั่งซื้อของ Online มาก็เยอะแล้วไม่ค่อยพลาด แต่ก็ไม่วายเจอดีเข้าจนได้ เมื่อสั่งซื้อของ Online แล้วไม่ได้รับของ ของไม่ตรงปก ของเสียหาย เราก็ต้องฟ้องแบบ Online ไปเลยครับ (แต่ก่อนฟ้องต้องแน่ใจว่าโดนโกง โดยการติดต่อผู้ขายแล้ว ติดต่อไม่ได้โดนบล๊อก หรือปฏิเสธความรับผิดชอบ)

    มาเริ่มกันเลย

    กระบวนการจะมีอยู่ 5 ขั้นตอนสำหรับครั้งแรกของการขอยืนฟ้อง

    1. Load Application COJ CONNECT และลงทะเบียน
    2. เข้าสู่เว็บ https://efiling3.coj.go.th/ โดยใช้การเข้าระบบผ่านทาง Application COJ CONNECT ที่ได้ลงทะเบียนไว้
    3. กรอกข้อมูลยื่นฟ้องตามเอกสารที่เตรียมไว้
    4. รอการพิจารณาประทับรับฟ้อง
    5. รอขึ้นศาลผ่านทาง Online

    ขั้นตอนการสมัครสมาชิก Application COJ CONNECT และลงทะเบียน
    1. Scan QR Code หรือเข้า Android (Google Play) และ IOS (App Store) ค้นหา COJ CONNECT

    2. เข้าสู่ Application COJ CONNECT เพื่อลงทะเบียน ซึ่งมีอยู่ 5 ขั้นตอน

    2.1 ระบุตัวตน >> กรอกข้อมูลรายละเอียดทุกช่องที่มีเครื่องหมาย *

    2.2 ตรวจสอบบุคคล >> ถ่ายรูปบัตรประชาชนและหน้าตาหล่อๆ สวยๆ

    2.3 รหัสผ่าน >> ตั้งรหัสผ่านตามกฏที่ทางเว็บกำหนด

    2.4 OTP >> รับรหัส OTP จากเบอร์มือถือที่กรอกข้อมูลไว้

    2.5 ลงทะเบียนอุปกรณ์

    หน้าระบุตัวตนหน้าที่ 1.
    หน้าระบุตัวตนหน้าที่ 2.

    เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอน เราก็พร้อมสำหรับเริ่มกระบวนการฟ้องแล้วครับ

    1. เริ่มต้น เข้าเว็บ https://efiling3.coj.go.th/
    Click เลือก ประชาชน เว็บจะพามาหน้า
    เลือก เข้าสู่ระบบ
    เลือก เข้าสู่ระบบผ่าน COJ Connect โดยจะกรอกข้อมูลรหัสบัตรประชาชน และ รหัสผ่าน หรือจะเปิด Application COJ Conect แล้ว SCAN QR Code ก็ได้ สามารถทำได้ 2 วิธี ดังรูปด้านล่างนี้

    ถ้าเป็นครั้งแรกจะให้ใส่ OTP เพื่อยืนยันอีกรอบ แต่ถ้าเข้ารอบหลังๆจะไม่มีให้ใส่ OTP อีกแล้ว

    และระบบจะพามาสู่หน้า

    เลือก ยื่นฟ้องคดีผู้บริโภค
    เลือก ผู้ซื้อสินค้า หลังจากนั้น กรอกข้อมูลและ upload หลักฐานการพูดคุยและจ่ายเงินทั้งหมดเข้าระบบ

    เมื่อกรอกข้อมอูลครบแล้ว Click ยื่นฟ้อง แล้วก็รอ Mail ตอบกลับจากศาล ซึ่งจะมีอยู่ 3 ฉบับ ดังนี้

    Mail แรก บอกว่ายื่นฟ้องเรียนร้อยแล้ว รอเจ้าพนักงานคดีทำการตรวจสอบ
    Mail ที่ 2 แจ้งรับฟ้องคดี
    Mail ที่ 3 จะนัดหมายวันที่ศาลพิจารณา เวลา โดยผ่านทาง google meet

    ที่ผมยื่นฟ้องไปนับจากวันเริ่มยื่น การดำเนินการ mail ทั้ง 3 ฉบับประมาณ 2 สัปดาห์ แต่รอศาลนัดพิจารณาคดีประมาณ 3 เดือน

    ตอนนี้ยังไม่ได้ขึ้นศาลพิจารณาคดี ถ้ามีความคืบหน้าจะมาเขียนสรุปเพิ่มให้นะครับ

    มาต่อกันครับ

    วันขึ้นศาล เข้า link ตามที่ระบบ Mail มาให้ซึ่งจะเป็นห้องรอขึ้นศาลจะมีการถ้าเพื่อตรวจาสอบชื่อ นามสกุล และบอกให้เตรียมบัตรประชาชนและแต่งกายสุภาพ เมื่อห้องพิจารณาคดีวาง ก็จะมีเจ้าหน้าที่ส่ง link มาทาง chat ในห้องประชุมแล้วเจ้าหน้าที่จะบอกว่าห้องประชุมนี้ให้โจทย์ท่านใดเข้าเป็นรายคนไปครับ

    เข้าห้องพิจารณาคดี เริ่มแรกก็ให้แสดงบัตรประชาชนกับหน้าของโจทย์เพื่อยืนยันตัวตนและเป็นหลักฐาน จากนั้นศาลท่านจะให้กล่าวคำสาบาน เสร็จจากนั้นศาลท่านจะสอบถามที่มาที่ไป ความต้องการ เช่นต้องการเงินคืนพร้อมดอกเบื้อร้อยละ 5 เป็นต้น เมื่อศาลซักเสร็จศาลก็จะแจ้งให้เข้าระบบในภายหลังเพื่อติดตามคำพิพากษาไม่เกิน 10 วันทำงาน

    ตอนนี้ถึงขั้นตอนนี้อยู่ครับ รอคำพิพากษาจากศาลครับ

    ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาอ่านนะครับ

  • Mail ขอนัดประชุมต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง

    ช่วงนี้เป็นช่วงที่ต้อง Mail ขอนัดประชุมเพื่อขอข้อมูลเพื่อจัดทำ Data Lake จากหลายๆหน่วยงานเป็นจำนวนมาก เลยลองตั้งคำถามว่า “mail ขอนัดประชุมควรจะประกอบด้วยหัวข้ออะไรบ้าง” ถึงจะครบถ้วน เหมาะสม สือสารตรงจุด ผู้รับ Mail อยากจะตอบรับ อยากประชุมกับเรา ผลการค้นหาและประมาณผลด้วยตัวเองออกมาประมาณนี้ครับ

    Subject Mail
    Subject Mail ต้องชัดเจนและกระชับ ช่วยให้ผู้เห็น Subject Mail แล้วพอจะรับรู้ได้ว่าเนื้อ Mail จะเกี่ยวกับเรื่องอะไร
    เช่น
    ขอนัดประชุมเรื่อง….
    ขอเชิญประชุมเรื่อง…
    ขอนำเสนอผลงานเรื่อง…
    ขอนัดปรึกษาเรื่อง…
    ขอชี้แจ้งเรื่อง…
    เริ่มเนื้อ Mail ด้วยการทักทายที่สุภาพและเหมาะสมกับความสัมพันธ์ ตำแหน่งหน้าที่ วัยวุฒิ
    ทักทายด้วยตำแหน่ง สำหรับผู้ใหญ่ ผู้บริหาร
    เช่น เรียน ่ทานผู้อำนวยการ../่ท่านคณบดี
    ทักทายด้วยสวัสดี สำหรับทั่วไปและคนที่รู้จักกันมาก่อน
    เกริ่นนำ ที่มาที่ของการขอนัดประชุม วัตถุประสงค์ของการขอประชุม
    ถึงจะมีการพูดคุยกันมาก่อนแล้วก็ตาม เกริ่นนำ และบอกวัตถุประสงค์ก็ต้องมีอย่างชัดเจน อย่างคิดว่าเคยรับรู้หรือเคยคุยมาแล้วไม่ต้องบอก เพราะบางครั้งก็มีลืมกันบ้าง หรือทางผู้รับ mail อาจจะ forword mail ต่อไปให้ท่านอื่นๆที่ไม่ได้รับรู้เรื่องที่ขอนัดประชุมมาก่อน
    วาระหรือหัวข้อที่จะประชุมพร้อมเวลาที่จะใช้ในการประชุม
    อธิบายวาระการประชุมเพื่อสังเขป
    และเวลาที่จะใช้ในการประชุม เช่น 1 ช.ม. 2 ช.ม. เพื่อถ้าเป็นการประชุมกับผู้บริหารทางผู้รับ Mail จะได้กำหนดเวลาได้ชัดเจน
    ถ้าการประชุมครั้งนี้เกินขึ้นหรือสำเร็จ ผู้เข้าประชุมจะได้รับอะไรที่เป็นประโยชน์กับตัวบุคคลหรือหน่วยงานบ้าง
    หัวข้อนี้ต้องให้ความสำคัญที่สุดเพราะเป็นหัวข้อที่ทำให้ผู้รับ Mail เห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับเมื่อมีการประชุมครั้งนี้เกิดขึ้น
    เตรียมตัวหรือเตรียมข้อมูลในการประชุมสำหรับผู้รับ Mail
    แจ้งคำขอให้มีการเตรียมตัวก่อนการประชุม หรือสิ่งที่ต้องเตรียมก่อนการประชุม
    เพื่อความพร้อมในการประชุม
    วัน เวลาและสถานที่ (Online/Onsite ) ขอนัดประชุม
    รูปแบบการประชุม Online หรือ Onsite
    วันและเวลา จะดีมากถ้ามีช่วงวันและเวลาให้ทางผู้รับ mail เลือกเพื่อช่วยการติดสินใจ
    ข้อความแสดงความขอบคุณสำหรับเวลาและการพิจารณาของผู้เข้าประชุม
    “ขอขอบคุณในการพิจารณาวันและเวลานัดหมายประชุมในครั้งนี้”
    “ขอขอบคุณในการเสียสละเวลาพิจารณาวันและเวลานัดหมายประชุมในครั้งนี้”
    ข้อมูลเพื่อให้ผู้รับ Mail ติดต่อกลับ
    เพื่อให้ผู้รับ Mail ติดต่อได้ง่ายและตามช่องทางที่ทางผู้รับ Mail สะดวก
    เช่น
    “กรุณาแจ้งกลับภายในวันที่ [วันที่] เวลา [เวลา]
    คุณ/ท่าน สามารถติดต่อกลับได้ที่
    [ชื่อ นามสกุล]
    [หมายเลขโทรศัพท์]
    หรือ
    [ที่อยู่อีเมล]”

    ทั้งหมดนี้คือหัวข้อที่น่าจะต้องมีใน Mail ขอนัดประชุมครับ สำหรับผมคิดว่าหัวข้อที่ว่า ถ้าการประชุมครั้งนี้เกิดหรือสำเร็จ ทางผู้เข้าประชุมจะได้รับประโยชน์อะไรบ้างเป็นหัวข้อที่สำคัญที่สุดและน่าจะทำให้ผู้รับ Mail ให้ความสนใจ ยิ่งเป็นประโยชน์ที่ช่วยงานให้ดีขึ้น สะดวกขึ้นก็จะยิ่งเพิ่มความน่าเข้าร่วมประชุมมากขึ้นไปอีกระดับ

    ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาอ่านนะครับ