มาทำความรู้จักกับ Validator ใน ASP.NET กันเถอะ

            ในการพัฒนาโปรแกรมโดยทั่วไป สิ่งหนึ่งที่นักพัฒนาควรคำนึงถึงและให้ความสำคัญในการรับค่าข้อมูลจากผู้ใช้ คือ การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่รับเข้า เพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลที่ได้มาจะเป็นประโยชน์ สามารถนำไปใช้ในการประมวลผลต่อไปได้ และลดปัญหาการเก็บข้อมูลขยะไว้ในฐานข้อมูลซึ่งอาจทำให้ฐานข้อมูลมีขนาดใหญ่เกินความจำเป็น อีกทั้งยังถือเป็นการป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเก็บข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ในกรณีเลวร้ายอาจมีผลกระทบทำให้ฐานข้อมูลเกิดความเสียหายได้ ดังนั้น การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก่อนบันทึกถือเป็นสิ่งหนึ่งที่นับว่ามีความสำคัญสำหรับนักพัฒนาที่จะต้องคำนึงถึงในการเก็บข้อมูลจากผู้ใช้
            วิธีที่ใช้ในการตรวจสอบสามารถทำได้หลายวิธี ซึ่งเดิมผู้พัฒนาจะต้องเขียน Client-Script (อาจจะเป็น JavaScript VBScript หรือ JQuery) เพื่อใช้ในการตรวจสอบเองทั้งหมด โดยวิธีการนี้ผู้พัฒนาจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับ Client Script เหล่านั้นพอสมควร และอาจต้องใช้เวลานานในกรณีที่มีการตรวจสอบที่ซับซ้อน แต่นับว่าเป็นโชคดีของนักพัฒนาที่ใช้เครื่องมือ ASP.NET ในการพัฒนาโปรแกรม เนื่องจาก .NET framework ได้จัดเตรียมเครื่องมือในการตรวจสอบเหล่านี้ไว้ให้เรียบร้อยแล้วตั้งแต่เวอร์ชั่น Visual Studio .NET 2003 เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้พัฒนาสามารถหยิบมาใช้ได้โดยง่าย ทำให้การตรวจสอบไม่ใช่เรื่องยากและซับซ้อนอีกต่อไป และยังถือเป็นการประหยัดเวลา ไม่จำเป็นต้องเขียนสคริปต์ตรวจสอบเองทั้งหมด เพียงกำหนด properties ต่างๆที่จำเป็นให้ validator เหล่านั้นและเลือกใช้ให้เหมาะสมกับความต้องการก็จะสามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลได้โดยง่ายดาย ผู้เขียนจึงเห็นว่าการทำความเข้าใจกับความสามารถของ validator เหล่านี้ถือเป็นสิ่งสำคัญเพื่อช่วยในการตัดสินใจเลือก validator มาใช้ให้เหมาะสมกับงานและความต้องการในการตรวจสอบนั้นๆ
            หากแบ่ง Validator control ที่มีใน ASP.NET ตามลักษณะการทำงาน สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ ดังนี้

การตรวจสอบข้อมูลในฝั่ง Client โดยการตรวจสอบข้อมูลในลักษณะนี้ จะเกิดขึ้นทันทีเมื่อผู้ใช้มีการป้อนข้อมูลเข้ามาและการตอบโต้นี้จะยังไม่มีการส่งค่าไปยังฝั่ง server ซึ่งข้อดีของการตรวจสอบในลักษณะนี้ คือ สามารถโต้ตอบกับผู้ใช้ในเวลาอันรวดเร็วและแสดงให้ผู้ใช้ทราบได้ทันทีว่าเกิดข้อผิดพลาดในการป้อนข้อมูล โดยไม่ต้องรอให้มีการเรียกใช้ไปยังฝั่งเซิร์ฟเวอร์ก่อนจึงจะตอบสนองกลับมายังผู้ใช้ และยังถือเป็นการลดจำนวนครั้งในเรียกใช้ไปยังฝั่งเซิร์ฟเวอร์โดยไม่จำเป็น ซึ่งหลักการทำงานของ Validator ของ ASP.NET ในลักษณะนี้ คือ Validator จะทำหน้าที่แปลง Validation เป็น JavaScript และถูกทำงานที่ฝั่ง Client ซึ่งจะขึ้นอยู่กับการทำงานของ Validation Control แต่ละประเภทที่ใช้นั่นเอง
การตรวจสอบข้อมูลในฝั่งเซิร์ฟเวอร์ โดยการตรวจสอบในลักษณะนี้ จะเกิดขึ้นที่ฝั่งเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งมีข้อดี คือ สามารถเพิ่มความปลอดภัยและความแม่นยำในการตรวจสอบอีกระดับก่อนจะบันทึกข้อมูลเหล่านั้นลงฐานข้อมูลในกรณีที่อาจมีข้อมูลผิดพลาดที่ตกสำรวจมาจากการตรวจสอบในฝั่ง Client โดยการตรวจสอบในลักษณะนี้ ผู้พัฒนาจะเป็นผู้เขียนโค้ดในการตรวจสอบตามเงื่อนไขที่กำหนดขึ้นเอง ซึ่ง ASP.NET ก็ได้มีการเตรียม validation control เพื่อรองรับการตรวจสอบในลักษณะนี้ไว้แล้วเช่นกัน

โดย Validation control ที่มีเตรียมไว้ใน ASP.NET ประกอบด้วย Validator ชนิดต่างๆ ดังนี้
• RequiredFieldValidator
• RegularExpressionValidator
• RangeValidator
• CompareValidator
• CustomValidator
• Validation Summary

            เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ผู้เขียนจะขอพูดถึงการกำหนดค่า Properties ให้กับ validator หลักๆที่สำคัญที่ทุกตัวต้องมีไว้เป็นเบื้องต้น และจะเพิ่ม properties เพิ่มเติมที่แตกต่างจาก properties หลักของ validator แต่ละตัวดังนี้

ID : เป็นการกำหนดชื่อ ID ให้กับตัว validator ซึ่งผู้เขียนแนะนำให้ตั้งชื่อให้สื่อความหมาย เพื่อง่ายต่อการต่อยอดในการพัฒนาร่วมกับผู้อื่น
ControlToValidate : เป็นการกำหนดว่าจะให้ validator ดังกล่าวทำการควบคุมและตรวจสอบ control หรือ element ตัวใดในหน้าจอ
Display : เป็นการกำหนดลักษณะในการแสดงผลของ validator ซึ่งมีด้วยกัน 3 แบบคือ

o Static : แบบจองพื้นที่ในการแสดงผล validator กรณีมีข้อผิดพลาด แม้ไม่พบข้อผิดพลาด validator ก็จะยังคงจองพื้นที่ส่วนนั้นไว้เช่นกัน
o Dynamic : จะแสดงผล validator เมื่อพบข้อผิดพลาด และเมื่อมีการแก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าวแล้ว Error message ของ validator ตัวดังกล่าวจะหายไปและลดพื้นที่ส่วนการแสดงผลให้เหมือนก่อนจะพบข้อผิดพลาด
o None : ไม่แสดงผลบนหน้าจอ

Error Message : เป็นการกำหนดข้อความที่ต้องการให้แสดง เมื่อผู้ใช้กรอกข้อมูลผิดพลาด ซึ่งถือเป็นการชี้แนะให้ผู้ใช้ทราบว่าความผิดพลาดดังกล่าวเกิดขึ้นจากสาเหตุใด และควรแก้ไขอย่างไร
SetFocusOnError : เป็นการกำหนด Focus ให้กับ control ที่พบความผิดพลาด แต่หากในหน้าจอดังกล่าวพบข้อผิดพลาดหลายจุดและ validator ทุกตัวมีการกำหนดค่า SetFocusOnError เป็น true จะทำให้ Focus เลื่อนไปยังจุดที่มีข้อผิดพลาดจุดแรกที่พบทันที
Text : เป็นการกำหนดในส่วนที่จะแสดงผล เมื่อ validator พบข้อผิดพลาดนั่นเอง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมักกำหนดให้แสดงเป็นเครื่องหมายดอกจันท์ หรือ * และวางไว้หลัง control ตัวที่ validator ดังกล่าวกำลังควบคุม เพื่อแจ้งให้ผู้ใช้ทราบว่าข้อมูลที่กรอกส่วนใดกำลังมีปัญหาหรือพบข้อผิดพลาดจากการตรวจสอบอยู่นั่นเอง
ToolTip : เป็นการกำหนดข้อความที่ต้องการให้แสดงเมื่อผู้ใช้นำเมาส์ไปชี้ที่ validator ที่กำลังแสดงข้อผิดพลาดอยู่
Validation group : เป็นการจัดกลุ่มให้กับ validator ที่ใช้ในการตรวจสอบ ซึ่งโดยปกติหากไม่กำหนดค่าในส่วนนี้จะถือว่า control ทั้งหมดในหน้าจอถูกจัดกลุ่มการควบคุมไว้เป็นกลุ่มเดียวกันทั้งหน้าจอ แต่หากมีบางกรณีที่ต้องการแยกกลุ่มในการตรวจสอบ ต้องมีการระบุ ValidationGroup ของปุ่มและ validator ที่ต้องการตรวจสอบเหล่านั้นให้เป็นกลุ่มเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ validator ตัวอื่นที่ไม่ใช่กลุ่มดังกล่าวไม่ถูกนำมาตรวจสอบ เพราะถือว่าเป็นการตรวจสอบคนละส่วนกัน

            หลังจากที่ทราบ properties หลักที่จำเป็นต้องใช้ในการกำหนดค่าให้กับ validator ที่จะใช้งานแล้ว ผู้เขียนขออธิบายในรายละเอียดเพิ่มเติมทั้งในส่วนของหน้าที่การทำงานและการกำหนดค่า properties ที่จำเป็นอื่นๆของแต่ละ validator control ดังนี้

RequiredFieldValidator
            การทำงานโดยทั่วไปของ validator นี้ จะใช้ในการตรวจสอบค่าว่างในการกรอกข้อมูล โดยหากกำหนดว่าต้องการควบคุมตัวใด การกรอกข้อมูลของ control ดังกล่าวจะถือเป็นข้อมูลบังคับกรอก หากไม่กรอกระบบจะแสดงข้อความแจ้งเตือนให้ทราบและไม่บันทึกข้อมูลให้ โดยการกำหนดค่า properties ต่างๆเพิ่มเติมจากที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น คือ

  • InitialValue : ใช้เปรียบเทียบค่าจาก InitialValue ที่กำหนดใน validator กับค่าที่ผู้ใช้กรอกมาใน control ที่ validator ตัวนี้ควบคุมอยู่ ซึ่งโดยทั่วไปการใช้งาน RequiredFieldValidator อาจไม่จำเป็นต้องกำหนดค่าให้กับ  properties นี้ แต่ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างเพื่อให้ผู้พัฒนาเห็นภาพการทำงานของลักษณะการกำหนดค่า InitialValue  เพื่อนำไปประยุกต์ใช้งานได้ ดังนี้

ตัวอย่างที่ 1 การเรียกใช้งาน RequiredFieldValidator  แบบทั่วไป(ไม่ได้กำหนดค่า InitialValue )

<asp:TextBox ID="TxtEmail" runat="server"></asp:TextBox>
<asp:RequiredFieldValidator ID="ReqEmail" runat="server"
ErrorMessage="Please enter your email-address" 
ControlToValidate="TxtEmail" SetFocusOnError="True">*
</asp:RequiredFieldValidator>

ตัวอย่างที่ 2  เช่น กรณีที่มีการกำหนดค่า InitialValue และมีการเลือกประเภทจาก dropdownlist ที่มีชื่อว่า DdlType และบังคับเลือก

<asp:DropDownList ID="DdlType" runat="server"> 
<asp:ListItem Value="--Select--">--Select--</asp:ListItem>
<asp:ListItem Value="Item1" />
<asp:ListItem Value="Item2" />
<asp:ListItem Value="Item3" />
</asp:DropDownList>
<asp:RequiredFieldValidator ID="ReqType" runat="server"
ErrorMessage="Please select type" ControlToValidate="DdlType" 
SetFocusOnError="True" InitialValue="--Select--" >*
</asp:RequiredFieldValidator>

จากตัวอย่างที่ 2 จะเห็นว่า ค่า InitialValue คือ “–Select–” นั่นหมายถึงว่า หากผู้ใช้เลือกรายการ “–Select–” จาก dropdownlist แล้วกดปุ่มบันทึก validator ดังกล่าวจะแสดงข้อผิดพลาดทันที

RegularExpressionValidator

            เป็น validator ที่ใช้ในการตรวจสอบรูปแบบการกรอกของข้อมูล เช่น อีเมล์ หมายเลขโทรศัพท์ URL ของเว็บไซต์ หรือรหัสไปรษณีย์ เป็นต้น โดย properties  ที่สำคัญเพิ่มเติมจากที่กล่าวไว้แล้วในข้างต้นของ validator นี้คือ

  • ValidationExpression ซึ่งทาง .NET ได้มีการกำหนดรูปแบบ regular expression สำเร็จรูปในการตรวจสอบไว้ให้แล้วในเบื้องต้น แต่ผู้พัฒนาสามารถประยุกต์ใช้ และปรับแก้ให้รูปแบบของ regular expression ที่ใช้ในการตรวจสอบเป็นไปในแบบที่ต้องการได้

ตัวอย่าง การใช้งาน ValidationExpression ในการตรวจสอบรูปแบบ URL ของเว็บไซต์

<asp:TextBox ID="txtURL" runat="server"></asp:TextBox>
<asp:RegularExpressionValidator ID="RegExURL" runat="server"
ControlToValidate="txtURL" ErrorMessage="Internet URL 's format is incorrect" SetFocusOnError="True" ValidationExpression="http(s)?://([\w-]+\.)+[\w-]+(/[\w- ./?%&amp;=]*)?">*</asp:RegularExpressionValidator>

จากตัวอย่าง พบว่า regular expression ที่ใช้ในการตรวจสอบรูปแบบของข้อมูล คือ  http(s)?://([\w-]+\.)+[\w-]+(/[\w- ./?%&amp;=]*)? ซึ่งเป็นแบบสำเร็จรูปที่ ASP.NET ได้เตรียมไว้ให้แล้ว

RangeValidator

            เป็น validator ที่ใช้ในการตรวจสอบข้อมูลว่าอยู่ในช่วงของข้อมูลที่กำหนดหรือไม่ ซึ่งสามารถกำหนดชนิดของช่วงข้อมูลได้  โดย validator ตัวนี้จะไม่พบข้อผิดพลาดหากผู้ใช้ไม่กรอกข้อมูล หากต้องการตรวจสอบข้อมูลห้ามเป็นค่าว่างด้วยจะต้องทำงานร่วมกับ RequiredFieldValidator  สำหรับการใช้งาน validator ชนิดนี้มี properties ที่สำคัญในการกำหนดการใช้งานเพิ่มเติม ดังนี้

  • MaximumValue : เป็นการกำหนดค่าสูงสุดที่สามารถกรอกได้
  • MinimumValue : เป็นการกำหนดค่าข้อมูลต่ำสุดที่สามารถกรอกได้
  • Type :เป็นการกำหนดชนิดของข้อมูลที่จะทำการตรวจสอบช่วงของข้อมูลว่าให้มองเป็นชนิดใด โดยชนิดของข้อมูลประกอบด้วย
    • String : การตรวจสอบช่วงข้อมูลชนิดที่เป็นชนิด String นี้จะคำนวณค่าโดยเทียบกับ Ascii Code (http://www.lookuptables.com/)
    • Integer
    • Double
    • Date

ตัวอย่างที่ 1 : การตรวจสอบช่วงของข้อมูลที่เป็นชนิด string

<asp:DropDownList ID="DdlChoice" runat="server">

<asp:ListItem Value="--Select--">--Select--</asp:ListItem>
<asp:ListItem Value="A" >A</asp:ListItem>
<asp:ListItem Value="B" >B</asp:ListItem>
<asp:ListItem Value="C" >C</asp:ListItem>
<asp:ListItem Value="D">D</asp:ListItem>
<asp:ListItem Value="E">E</asp:ListItem>
</asp:DropDownList>
<asp:RangeValidator ID="RangeChoice" runat="server"
ControlToValidate="DdlChoice" 
ErrorMessage="Please select between A-D"
MaximumValue="D" MinimumValue="A">*</asp:RangeValidator>

จากตัวอย่างจะพบข้อผิดพลาดหากผู้ใช้เลือกรายการ “E” เนื่องจากเมื่อนำค่าดังกล่าวไปเปรียบเทียบกับค่าแบบ Ascii code แล้วจะมีค่าเกินช่วงที่กำหนดใน validator คือ A-D นั่นเอง

ตัวอย่างที่ 2 : การตรวจสอบช่วงของข้อมูลที่เป็นชนิดตัวเลข

Enter number (between 1 - 10) :
<asp:TextBox ID="txtAmount" runat="server"></asp:TextBox>
<asp:RangeValidator ID="RangeNumber" runat="server"
ControlToValidate="txtAmount" 
ErrorMessage="The data must be from 1 to 10"
MaximumValue="10" MinimumValue="1" Type="Integer">*</asp:RangeValidator>

CompareValidator

            เป็น validator ที่ใช้ในการเปรียบเทียบค่าหรือตรวจสอบชนิดของข้อมูลที่กรอก โดยตัวอย่างที่ใช้กันบ่อยมักเป็นการเปรียบเทียบค่า 2 ค่า เช่น กรณีการระบุรหัสผ่าน และยืนยันรหัสผ่าน หรือกรณีต้องการตรวจสอบชนิดของจำนวนเงินว่าต้องเป็นตัวเลขเท่านั้น เป็นต้น โดย properties เพิ่มเติมที่ใช้ในการกำหนด มีดังนี้

  • ValueToCompare : เป็น properties ที่ใช้ในกรณีที่ต้องการเปรียบเทียบค่าที่รับจากผู้ใช้กับค่าคงที่ที่ระบุ
  • ControlToCompare : เป็น properties ที่ใช้กำหนดคอนโทรลตัวที่ต้องการเปรียบเทียบค่า(ในกรณีที่มีการเปรียบเทียบค่าจาก 2 คอนโทรล)
  • Operator :เป็นpropertiesที่ใช้ในการกำหนดการปฏิบัติการในการเปรียบเทียบค่า มีดังนี้
    • Equal : ค่าของข้อมูลที่รับมาต้องมีค่าเท่ากันกับค่าที่ต้องการเปรียบเทียบ
    • NotEqual : ค่าของข้อมูลที่รับมาต้องไม่เท่ากับค่าที่ต้องการเปรียบเทียบ
    • GreaterThan : ค่าของข้อมูลที่รับมาต้องมีค่ามากกว่าค่าที่ต้องการเปรียบเทียบ
    • GreaterThanEqual : ค่าของข้อมูลที่รับมาต้องมีค่ามากกว่าหรือเท่ากับค่าที่ต้องการเปรียบเทียบ
    • LessThan : ค่าของข้อมูลที่รับมาต้องมีค่าน้อยกว่าค่าที่ต้องการเปรียบเทียบ
    • LessThanEqual : ค่าของข้อมูลที่รับมาต้องมีค่าน้อยกว่าหรือเท่ากับค่าที่ต้องการเปรียบเทียบ
    • DataTypeCheck : เป็นการระบุการตรวจสอบชนิดของข้อมูล และทำงานร่วมกับ properties ที่ชื่อว่า Type โดยการกำหนด properties นี้ จะส่งผลให้ค่าที่ถูกกำหนดไว้ให้กับ properties ที่มีชื่อว่า ValueToCompare และ ControlToCompare ไม่ทำงาน
  • Type : ชนิดของข้อมูลที่ต้องการตรวจสอบ
หมายเหตุ : ค่าที่ต้องการเปรียบเทียบอาจเป็นค่าที่มาจากคอนโทรลอีกตัวที่ต้องการเปรียบเทียบ(ControlToCompare) หรือมาจากค่าที่กำหนดไว้ใน ValueToCompare นั่นเอง ซึ่งค่า properties ทั้งสองนี้ไม่ควรกำหนดร่วมกัน ควรเลือกใช้เพียงตัวใดตัวหนึ่งเท่านั้น แต่หากมีการกำหนดทั้ง 2 ค่าพร้อมกัน การทำงานของ ControlToCompare จะมีลำดับในการทำงานก่อน


ตัวอย่างที่
1
การเปรียบเทียบค่าข้อมูล 2 ค่าจากคอนโทรล เช่น กรณีการพิมพ์รหัสผ่านและยืนยันรหัสผ่าน เป็นต้น

Password :<asp:TextBox ID="txtPassword" runat="server">
</asp:TextBox><br />
Retype-password :<asp:TextBox ID="txtConfirmPassword" 
runat="server"></asp:TextBox> 
<asp:CompareValidator ID="CmpPassword" runat="server" 
ErrorMessage="Password must be the same" 
ControlToCompare="txtPassword" ControlToValidate="txtConfirmPassword">*</asp:CompareValidator>

ตัวอย่างที่ 2 การเปรียบเทียบค่าของข้อมูลกับค่าคงที่ที่กำหนด กรณีที่ต้องกรอกข้อมูลที่มีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 18

Age :<asp:TextBox ID="txtAge" runat="server"></asp:TextBox>
<asp:CompareValidator ID="CmpAge" runat="server" 
ControlToValidate="txtAge" 
ErrorMessage="Age must greater than or equal 18 years old"
Operator="GreaterThanEqual" ValueToCompare="18">*
</asp:CompareValidator>

ตัวอย่างที่ 3 การตรวจสอบชนิดของข้อมูล กรณีกรอกข้อมูลราคาต้องเป็นตัวเลขเท่านั้น

Price : <asp:TextBox ID="txtPrice" runat="server"></asp:TextBox>

<asp:CompareValidator ID="CmpType" runat="server" 
ControlToValidate="txtPrice" ErrorMessage="Price must be number" 
Operator="DataTypeCheck" Type="Double">*</asp:CompareValidator>

CustomValidator

            หากการตรวจสอบด้วย validator ที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ ยังไม่ครอบคลุมการตรวจสอบที่ต้องการ นักพัฒนาสามารถกำหนดเงื่อนไขในการตรวจสอบ และการทำงานนอกเหนือจากที่ validator ที่ ASP.NET เตรียมไว้ให้ขึ้นได้เอง โดยใช้ validator ประเภท CustomValidator ซึ่ง validator ประเภทนี้ จะมีช่องทางในการตรวจสอบสำหรับผู้พัฒนาเตรียมไว้ให้ทั้ง 2 ฝั่ง คือทั้งฝั่ง client และฝั่ง server โดยมี properties ที่จำเป็นเพิ่มเติมจาก properties หลัก ดังนี้

  • ClientValidationFunction : เป็นการกำหนดค่าของฟังก์ชั่นในฝั่ง client ที่ใช้ในการตรวจสอบข้อมูล
  • OnServerValidate : เป็นการกำหนดฟังก์ชั่น event หรือเมธอดที่ใช้ในการตรวจสอบข้อมูลในฝั่งเซิร์ฟเวอร์

ตัวอย่างที่ 1 การใช้งาน custom validator ในการตรวจสอบค่าข้อมูลจากฝั่ง client

<script type="text/javascript">
function CheckData(oSrc, args) {
if(args.Value.length >= 5 && args.Value.search('-') == -1)
args.IsValid = true;
else
args.IsValid = false;
oSrc.innerText = "(Your custom message here) ";
}
</script>

<asp:TextBox ID="txtUserName" runat="server"></asp:TextBox>
<asp:CustomValidator ID="CustomUsername" runat="server" 
ClientValidationFunction="CheckData" ControlToValidate="txtUserName" 
ErrorMessage="Username must be greater than or equal 5 letters and cannot contain contain '-'">*</asp:CustomValidator>
หมายเหตุ : หากต้องการเปลี่ยนแปลงข้อความผิดพลาดที่ต้องการแสดงสามารถทำได้โดยกำหนด      oSrc.innerText ในฟังก์ชั่น JavaScript นั้น

ตัวอย่างที่ 2 การใช้งาน custom validator ในการตรวจสอบค่าข้อมูลจากทั้งฝั่ง client และฝั่งเซิร์ฟเวอร์

ฝั่ง Client

<script type="text/javascript">
function CheckData(oSrc, args) {
if(args.Value.length >= 5 && args.Value.search('-') == -1)
args.IsValid = true;
else
args.IsValid = false;

</script>
<asp:TextBox ID="txtUserName" runat="server"></asp:TextBox>
<asp:CustomValidator ID="CustomUsername" runat="server"
ClientValidationFunction="CheckData" 
ControlToValidate="txtUserName"
ErrorMessage="Username must greater than or equal 5 letters and cannot contain '-' " onservervalidate="CustomUsername_ServerValidate">*
</asp:CustomValidator>

ฝั่งเซิร์ฟเวอร์

protected void CustomUsername_ServerValidate(object source, ServerValidateEventArgs args)
{
string username = args.Value;
string[] Users = {"Amanda","Robert","John","Jennie"};
if (Users.Contains(username))
{
args.IsValid = false;

CustomUsername.ErrorMessage = "Username is already exists in database.";
}
else
args.IsValid = true;
}

            จากตัวอย่างจะมีการตรวจสอบค่าข้อมูลรหัสผู้ใช้จากฝั่ง client ก่อน ว่าต้องมีความยาวตั้งแต่ 5 ตัวอักขระขึ้นไปและต้องไม่ประกอบด้วย “-” หากมีเงื่อนไขครบตามกำหนดจะทำการตรวจสอบอีกครั้งในฝั่งเซิร์ฟเวอร์ว่าจะต้องไม่ซ้ำกับค่าที่มีอยู่แล้วจากข้อมูลรหัสผู้ใช้สมมติที่มีอยู่ และหากพบข้อผิดพลาดจะมีการแสดงข้อความแจ้งบอก

Validation Summary

            เป็น validator ที่ใช้ในการสรุปข้อผิดพลาดทั้งหมดที่เกิดขึ้นในหน้าจอดังกล่าว ซึ่งอาจมีการระบุ ValidationGroup เพื่อแยกกลุ่มการตรวจสอบตามที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้นได้ โดยการใช้งาน validator ตัวนี้จะประกอบด้วย properties ที่สำคัญ ดังนี้

  • DisplayMode :เป็นรูปแบบในการแสดงผลสรุปรวมข้อผิดพลาด ซึ่งประกอบด้วย
    • List : เป็นการแสดงผลแบบเว้นบรรทัด
    • BulletList : เป็นการแสดงผลแบบ bullet ซึ่งโดยปกติจะมีค่าตั้งต้นเป็นการแสดงผลในรูปแบบนี้
    • SingleParagraph : เป็นการแสดงผลข้อผิดพลาดแบบเว้นวรรคต่อกันในบรรทัดเดียวกันไปเรื่อยๆ

ตัวอย่างผลลัพธ์การแสดงผลของ DisplayMode ในแต่ละแบบ

DisplayMode

  • HeaderText : เป็นการระบุข้อความที่ต้องการให้แสดงในส่วนบนของข้อสรุปผิดพลาดทั้งหมดที่เกิดขึ้น
  • ShowMessageBox : เป็นการกำหนดว่าต้องการให้แสดงผลสรุปในรูป MessageBox หรือไม่ ซึ่ง properties ดังกล่าวจะไปทำการสร้างฟังก์ชั่นที่เรียกใช้งาน alert() ของ JavaScript เพื่อการแสดงผลสรุปข้อผิดพลาดนี้
  • ShowSummary : เป็นการแสดงผลรายการข้อผิดพลาดในรูปแบบ HTML ในตำแหน่งที่ validator ตัวนี้ถูกวางอยู่

ตัวอย่างที่ 1 การใช้ ValidationSummary ในการสรุปข้อผิดพลาดในหน้าจอโดยแสดงผลในรูปแบบ MessageBox

Username : <asp:TextBox ID="txtUserName" runat="server">
</asp:TextBox>
<asp:CustomValidator ID="CustomUsername" runat="server" 
ClientValidationFunction="CheckData" ControlToValidate="txtUserName" 
ErrorMessage="Username must greater than or equal 5 letters and cannot contain '-' "  onservervalidate="CustomUsername_ServerValidate">*
</asp:CustomValidator><br />
Password :
<asp:TextBox ID="txtPass" runat="server"></asp:TextBox>
<asp:RequiredFieldValidator ID="ReqPass" runat="server" 
ControlToValidate="txtPass" ErrorMessage="Password">*
</asp:RequiredFieldValidator>
<asp:ValidationSummary ID="ValidationSummary" runat="server"
HeaderText="Errors:" ShowMessageBox="True" />

            จากบทความข้างต้น หากผู้พัฒนาเลือกใช้ validator ให้ตรงและเหมาะสมกับงาน น่าจะเป็นประโยชน์และช่วยอำนวยความสะดวกในการตรวจสอบข้อมูลให้ง่ายและรวดเร็วขึ้น และผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลการใช้งาน validator จากบทความนี้จะมีส่วนช่วยในการตัดสินใจของผู้พัฒนาในการเลือกหยิบ validator มาใช้งานไม่มากก็น้อย หากมีข้อผิดพลาดประการใด ผู้เขียนขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

แหล่งข้อมูลอ้างอิง :
http://www.codeproject.com/Articles/3882/ASP-NET-Validators-Unclouded
http://www.codeproject.com/Articles/334310/Understanding-ASP-NET-Validation-Techniques
http://www.codeproject.com/Articles/7943/Validator-Controls-in-ASP-NET