ไปงานมหกรรมซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 12

งานมหกรรมซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 12 จัดที่ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ จ.นนทบุรี เป็นงานสัมมนาที่ดี วิทยากรที่มาบรรยายก็มีความรู้และทำงานอยู่ในภาคธุรกิจจริง สามารถถ่ายทอดได้เห็นภาพการนำโอเพนซอร์สซอฟต์แวร์ไปใช้งาน

ossfest2014-hall

เนื้อหาสาระโดยสรุป กิจกรรมที่น่าสนใจได้แก่
– โซนงาน
1. โซนงานสัมมนา Conference/Seminar
การสัมมนา/เสวนา ที่มีเรื่องราวโอเพนซอร์สซอฟต์แวร์ที่น่าสนใจ ตั้งแต่ระดับผู้ใช้งานตามบ้านทั่วไป ระดับองค์กรธุรกิจ ผู้ประกอบการ ระดับภาคการศึกษา รวมถึงบริการออนไลน์ที่น่าสนใจ
2. โซนห้องอบรมย่อย Workshop
3. โซนห้องจัดแสดงนิทรรศการ/บูธประชาสัมพันธ์ Exhibition

– มอบรางวัล Open Source Award ประจำปี 2014
ซึ่งในปีนี้ พระวิภัทร ปัาวุฑฺโฒ (วิภัทร ศรุติพรหม) ได้รับรางวัลซึ่งเป็น 1 ใน 3 รางวัลที่แจกในปีนี้ (ร่วมแสดงความยินดี)

– keynote topic 2 เรื่องคือ
1. Digital Economy based on Open Data and Open Access Approach โดย ดร.วิรัช ศรเลิศล้ำวาณิช เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการนำเสนอแนวทางในการสนองตอบนโยบายประเทศในเรื่อง Digital Economy โดยวิทยากรนำเสนอว่า ในโลกอินเทอร์เน็ตปัจจุบัน เต็มไปด้วยข้อมูลทั้งแบบมีโครงสร้างและไม่มีโครงสร้างเช่น facebook เป็นต้น และเป็นแหล่งข้อมูลที่เปิดให้ทุกคนนำสิ่งต่างๆที่โพสต์กันอยู่ใน social network นำไป process เพื่อให้ได้ข้อมูลเป็นสถิติเพื่อใช้ในการทำธุรกิจได้ หรือสามารถรับทราบความเป็นไปในสังคมแบบเรียลไทม์ได้
2. Open in the cloud from Microsoft Openness (Microsoft) โดยตัวแทนจากไมโครซอฟต์
เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการนำเสนอ Microsoft Azure ผลิตภัณฑ์ที่รองรับการทำงานแบบ cloud ทำให้ไม่ว่าผู้ใช้จะใช้ open source server หรือ software ก็สามารถรันบน cloud จากการใช้ผลิตภัณฑ์ตัวนี้ได้ แบบมีค่าใช้จ่ายที่คิดตามการเลือกใช้งานและเวลาที่ใช้งาน ซึ่งสามารถเลือกได้ว่าต้องการทรัพยากรเท่าไร ติดตั้ง server ใหม่ได้ในเวลาอันสั้นโดยการเลือก template ที่ต้องการ

– หัวข้อสัมมนาอื่นๆอีกมากมาย เช่น
1. OpenStack : คุณดำรงศักดิ์ รีตานนท์ แนะนำให้ความรู้เบื้องต้น
2. Social Media เพื่อการประชาสัมพันธ์ : คุณชีพธรรม ไตรคำวิเศษ เล่าให้ฟังขายไอเดียเรื่องคนไทยอ่อนประชาสัมพันธ์ และนำเสนอ Tweet deck (https://tweetdeck.twitter.com/) การใช้แอพ Tweetdeck สำหรับการใช้ Twitter แบบเหนือเมฆ
3. Open Source และเทคโนโลยีเบื้องหลังระบบขนาดใหญ่ : คุณกิตติรักษ์ ม่วงมิ่งสุข เล่าเรื่อง facebook และ google ใช้ open source software ในเบื้องหลังการให้บริการ
4. Wireless & Web Application Security with KALI Linux : อ.ขจร สินอภิรมย์สราญ เล่าเรื่องเกี่ยวกับระบบปฏิบัติการ Linux ที่ปรับแต่งเพิ่มเติมซอฟต์แวร์ในการเจาะระบบเพื่อใช้ในการเรียนรู้การรักษาความปลอดภัย ด้วยเวลาที่จำกัดจึงเล่าให้ฟังในส่วน Wireless LAN ถึงวิธีการและซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการเจาะ Symmetric and Asymmetric Encryption
5. Open Source Experience in DTAC : คุณทวิร พาณิชย์สมบัติ เล่าถึงประสบการณ์ในการนำโปรแกรมที่พัฒนาด้วย tools ต่างๆที่เป็น open source เข้าไปใช้งานทดแทนโปรแกรมเดิมที่มีค่าใช้จ่ายของ tools ที่ใช้ในการพัฒนา และเล่าให้ฟังถึงการปรับตัวของโปรแกรมเมอร์ในองค์กรที่ได้นำโปรแกรมใหม่นี้เข้าไปให้ใช้ ซึ่งต้องปรับตัวเองในการค้นคว้าหาคำตอบจากอินเทอร์เน็ตแทนการรอคอย vender ให้ความช่วยเหลือ
6. Open Source กับ Digital TV : คุณโดม เจริญยศ เล่าถึงประสบการณ์ในการทำงานให้กับบริษัท TV Pool ในการเข้าไปประมูลงาน Digital TV ในเมืองไทย เล่าถึงการที่ต้องทำความเข้าใจการสื่อสารคำศัพท์ของคนในวงการไอที กับ คนในวงการบรอดคาสติ้ง จะเข้าใจไม่เหมือนกัน เช่น ความละเอียดของภาพ ขนาดของภาพ จะใช้ชื่อที่อ้างถึงแล้วเข้าใจตรงกันในวงการ และเล่าถึงการจัดซื้ออุปกรณ์เพื่อนำมาใช้ทำบริการ Digital TV เป็นการลดต้นทุนได้อย่างมหาศาลจากที่สำรวจตลาดว่ามีอะไรให้ใช้งานได้บ้าง แล้วมีโอเพนซอร์สซอฟต์แวร์อะไรให้ใช้ได้บ้าง และเล่าถึงการให้บริการ 24X7 ของการออกอากาศว่าจำเป็นต้องมีการจัดทำระบบ backup ไว้ด้วยในลักษณะ active – active ส่งสัญญาณออกอากาศด้วยชุด 2 ชุด พร้อมกัน และยังมีอีก 1 ชุด stand by รอชุด active ชุดใดชุดหนึ่งเสีย ก็เปลี่ยนแทนได้เลย
7. Open source tools for multimedia production : คุณพีรพัทธ์ นันนารารัตน์ เล่าให้ฟังถึงวงการทำสื่อสิ่งพิมพ์และภาพยนตร์ การเลือกใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สที่เป็นที่นิยมหลายตัว เช่น Darktable, Lives, Tupi, Synfig Studio, Audacity, Flash Develop, Blender เป็นต้น โดยเฉพาะ Blender นั้นเป็น tool ในการทำ effect ภาพยนตร์ที่ใช้งานได้จริง ได้นำ demo ภาพยนตร์ที่ทำจาก Blender มาให้ชมด้วย
8. Open Source Road Map 2015 : ตัวแทนจากชมรมผู้ประกอบการโอเพนซอร์ส ภายใต้สมาคมสมาพันธ์โอเพนซอร์สแห่งประเทศไทย เล่าให้ฟังถึงสิ่งที่จะทำในปีค.ศ.2015 คือ การพัฒนานักพัฒนาด้านโอเพนซอร์สเป็นสาระสำคัญ แต่ก็ไม่ละเลยส่วนอื่นๆไปซะทีเดียว

– และยังมีหัวข้อสัมมนาอื่นๆที่ไม่ได้เข้าฟังอยู่ในอีกหลาย Track เช่น Bootstrap 3 มนต์มายาแห่ง Open Source เป็นต้น

– เสวนา 2 เรื่อง
1. เสวนาเรื่องเทคโนโลยีกับการศึกษาไทย (Google for Education, CAT, ABAC)
ในการเสวนานี้ เน้นไปที่การให้บริการ cloud โดย CAT เล่าเกี่ยวกับการให้บริการ cloud ที่มีค่าใช้จ่ายสำหรับหน่วยงานที่ต้องการใช้ cloud หรือจะสนับสนุนผลิตภัณฑ์ของคนไทยด้วยกัน ส่วน Google for Education ก็แสดงให้เห็นจุดยืนเกี่ยวกับการให้บริการ cloud ผ่านระบบที่เรียกว่า Google App for Education โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการใช้งาน และเล่าเรื่องการใช้งานที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
2. เสวนาเกี่ยวกับโปรเจ็คโอเพนซอร์สในมหาวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์)
ในการเสวนานี้พอจะจับจุดสำคัญของแต่ละมหาวิทยาลัยได้ดังนี้
มหาวิทยาลัยบูรพา จะเน้นไปที่กิจกรรมการเข้าค่ายเพื่อสร้างความตระหนักให้นักศึกษาคณะทางด้านไอทีเข้ามาเป็นพลเมืองนักพัฒนาโอเพนซอร์ส นอกเหนือไปจากการใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส และเชิญชวนทุกมหาวิทยาลัยเข้าร่วมกิจกรรมค่ายด้วยกัน
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะเน้นไปที่กิจกรรมการให้ความรู้การนำโอเพนซอร์สซอฟต์แวร์ทางด้านเดสก์ทอปเพื่อการเรียนการสอน ทั้งการอบรมภายในมหาวิทยาลัยและออกไปจัดตั้งห้องคอมพิวเตอร์ให้กับโรงเรียนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
มหาวิทยาลัยขอนแก่น จะเน้นไปที่การเลือกใช้ซอฟต์แวร์ที่เหมาะสมกับสิ่งที่จะทำในช่วงเวลานั้น และเป็นมหาวิทยาลัยที่ผู้ช่วยอธิการบดีเป็นผู้ทำงานอยู่กับไอที และใช้โอเพนซอร์สซอฟต์แวร์แทบทุกตัว รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายกับซอฟต์แวร์ประเภทที่ต้องจัดซื้อด้วยเช่นกัน และเป็นมหาวิทยาลัยแรกๆที่ใช้ Google App for Education โดยทุกคนหันมาร่วมกันใช้โดยไม่ได้บังคับ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จะเน้นไปที่การพัฒนาซอฟต์แวร์การจัดสอบออนไลน์ที่ทำด้วยโอเพนซอร์ส เนื่องจากว่าไม่ได้มีเวลามากพอจึงไม่ได้พูดถึงประเด็นอื่นๆ
สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ จะใช้ moodle เป็น e-learning ของสถาบันแบบเต็มรูปแบบ และ ยังมีซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สสำหรับเตรียมสไลด์การสอนด้วย prezi (http://prezi.com/windows/) และใช้ server และ web server ต่างๆเป็นโอเพนซอร์สทั้งหมดสำหรับที่ต้องลงมือทำเอง

สามารถดูหัวข้อการสัมมนาทั้งหมดได้ที่ http://www.ossfestival.in.th/

การไปร่วมงานในครั้งนี้ ทำให้ได้รับข่าวสารอัปเดตทิศทางของโอเพนซอร์สซอฟต์แวร์ในปัจจุบัน ยังคงไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในระดับประเทศ และทราบว่าโอเพนซอร์สซอฟต์แวร์ที่นำมาเสนอในงานสัมมนาครั้งนี้เป็นความสามารถของวิทยากรแต่ละท่านที่ต้องการลดต้นทุนการซื้อซอฟต์แวร์ที่จะต้องใช้ในงานที่จะนำไปเสนอขายให้ลูกค้า โดยใช้ความรู้ของวิทยากรค้นหาความรู้จากอินเทอร์เน็ต จึงได้นำประสบการณ์มาเล่าสู่กันฟังในงานสัมมนา

ผมก็เล่าให้ฟังแบบที่พอจะจับประเด็นได้นะครับ หากผิดพลาดประการใดก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย หากมีข้อมูลเพิ่มเติมก็บอกได้นะครับ

วิบูลย์

1 thought on “ไปงานมหกรรมซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 12”

  1. ผมขอเพิ่มเติมในส่วนที่ผมได้เข้ารับสัมมานาฟังครับ คือ
    1.Open Source กับงานไมโครคอนโทรล โดย อ.สาทิศ เพิ่มสว่าง บัจจุบันที่นิยมเล่นกันมี 2 ตัว คือ Arduino กับ Raspberry Pi ในงานจะมี workshop การเขียนโปรแกรมเพื่อควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ด้วย Arduino เช่น การเปิด-ปิด หลอดไฟ เป็นต้น รายละเอียด http://satit.phayoune.org/

    2.การพัฒนา Open Service Platform (PaaS) ด้วย OSS โดย คุณกำธร ไกรรักษ์ เนื้อหาหนักไปทาง programming เป็นการแนะนำ tools ที่เป็น opensource ในการสร้าง API บน cloud ตัวอย่างคือระบบ Traffy ของ nectec ที่มี API ให้ดึงข้อมูลเกี่ยวกับการจราจร เป็นต้น เบื้องหลังใช้ cloud ของ ec2 amazon

    3.Social Commerce & MIT Open Courseware โดย อ.อรภัค สุวรรณภักดี แนะนำการใช้งาน MIT Open Courseware เรียนคอร์สต่างๆ ฟรี จากสถาบัน MIT มีแฟนเพจในไทย http://www.facebook.com/MITOCWClubThailand

    4.พัฒนาฐานข้อมูลงานวิจัยในประเทศไทยด้วย OSS โดย อ.บุญเลิศ อรุณพิบูลย์ แนะนำ tools ในการสร้างคลังฐานข้อมูลวิจัยแบบเปิด ปัจจุบันมีหลายตัว แต่ที่คิดว่าน่าสนใจและสามารถศึกษาเองได้คือ การใช้ Drupal + biblio + OAI ค้นคว้าต่อได้ที่ http://www.thailibrary.in.th/ และตัวอย่างคลังฐานข้อมูลวิจัยแบบเปิด http://www.tnrr.in.th

Comments are closed.