จากตอนที่ 1 เราได้ทราบภาพรวมกิจกรรมและขั้นตอนต่างๆ ทั้งหมดในการทดสอบซอฟต์แวร์กันไปแล้ว ตอนที่ 2 ผู้เขียนจะลงลึกในรายละเอียดขั้นตอนที่ 1 ของการทดสอบซอฟต์แวร์กันค่ะ โดยขั้นตอนที่ 1 นั่นก็คือ
1. ผู้ทดสอบรับการถ่ายทอดการทำงานของซอฟต์แวร์ที่จะทดสอบจากนักพัฒนาโปรแกรม
ขั้นตอนนี้เป็นการถ่ายทอดการทำงานของซอฟต์แวร์จากนักพัฒนาโปรแกรมให้กับผู้ทดสอบเพื่อให้ผู้ทดสอบทราบภาพรวม ขอบเขตและเข้าใจการทำงานทั้งหมดของซอฟต์แวร์ก่อนเริ่มการทดสอบ รวมถึงรวบรวม Task Test ทั้งหมดของซอฟต์แวร์ที่จะทดสอบค่ะ
ผู้เขียนขอย่อยการดำเนินการในขั้นตอนที่ 1 เพื่อให้เข้าใจง่าย ๆ ตาม Flowchart นี้นะคะ
อธิบายดังนี้ ค่ะ
1. เริ่มจากการนัดหมายเวลาในการถ่ายทอดการทำงานของวอฟต์แวร์กันก่อนค่ะ โดยนักพัฒนาโปรแกรมจะนัดวันเวลาที่จะถ่ายทอดการทำงานของซอฟต์แวร์ให้กับผู้ทดสอบกับผู้จัดการโครงการ ซึ่งจะต้องนัดล่วงหน้า ระยะเวลาเท่าไหร่นั้นก็ตามแล้วแต่เห็นสมควรและพิจารณากันเอาเองค่า อย่างทีมของผู้เขียน ก็จะนัดอย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนเริ่มการทดสอบค่ะ (นัดทำไม นัดกันให้ชัดเจน จะได้เตรียมตัวเตรียมใจถูกเตรียมสมองให้โล่งงงงค่ะกันถ้วนหน้าค่ะ)
2. เมื่อได้วันเวลากันเรียบร้อยแล้ว ผู้จัดการโครงการก็แจ้งวันเวลาที่นักพัฒนาโปรแกรมจะถ่ายทอดการทำงานของซอฟต์แวร์ให้กับผู้ทดสอบรับทราบค่ะ (PM ซึ่งถือว่ามีอำนาจการจัดการบริหารในทีม ก็จะมาแจ้งให้ทราบบ อิอิ สบายใจกันทุกฝ่ายค่ะ)
3. เมื่อถึงวันเวลาตามที่ได้นัดหมายไว้ นักพัฒนาโปรแกรมก็จะมาถ่ายทอดการทำงานของซอฟต์แวร์ให้กับผู้ทดสอบค่ะ ในขั้นนี้โปรแกรมเมอร์ต้องถ่ายทอดการทำงานของซอฟต์แวร์ให้กับผู้ทดสอบอย่างละเอียด และจัดเตรียม Software Requirements Specification และ Functional Design ของซอฟต์แวร์มาให้กับผู้ทดสอบด้วยนะคะ (จะได้ใช้เป็นข้อมูลตอนทดสอบค่ะ บางทีที่จดๆๆ เข้าใจมา ก็อาจจะผิดพลาดได้)
–> ในการถ่ายทอดการทำงานของซอฟต์แวร์
นักพัฒนาโปรแกรมต้องอธิบาย ภาพรวมทั้งหมดและการทำงานของซอฟต์แวร์ว่ามีการทำงานอะไรบ้างและทำงานอย่างไร ซอฟต์แวร์มีข้อจำกัดอะไรบ้างเพื่อผู้ทดสอบจะได้เข้าใจและทราบข้อมูลที่จะนำไปทดสอบ
–> โดยในระหว่างการถ่ายทอดการทำงานของซอฟต์แวร์ หากผู้ทดสอบมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำงานของซอฟต์แวร์
ผู้ทดสอบควรซักถามจากนักพัฒนาโปรแกรมหรือศึกษาจาก Software Requirements Specification และ Functional Design ของซอฟต์แวร์ที่จะทดสอบให้เข้าใจนะคะ ไม่ควรเก็บข้อสงสัยนั้นไว้หรือทดสอบซอฟต์แวร์ไปตามความคิดของตนเองเพราะจะส่งผลให้การทดสอบนั้นดำเนินการไปในแนวทางที่ไม่ถูกต้อง การทดสอบอาจล่าช้ากว่าที่ได้กำหนดไว้ซึ่งเกิดจากผู้ทดสอบเอง และอาจไม่สามารถค้นหาข้อผิดพลาดที่มีอยู่ของซอฟต์แวร์ได้ค่ะ
ผู้เขียนได้รวบรวมข้อมูลจากประสบการณ์ทดสอบซอฟต์แวร์ที่ผ่านมา และสรุปเป็นข้อมูลที่ผู้ทดสอบต้องทราบก่อนเริ่มการทดสอบซอฟต์แวร์เอาไว้ด้วยค่ะ ไว้จะมาแชร์ไว้ในบทความหน้าให้อ่านกันนะคะ (อัพเดท ตามไปอ่านกันได้ที่ บความเรื่อง 7 ข้อมูลที่ผู้ทดสอบต้องทราบก่อนเริ่มการทดสอบซอฟต์แวร์ นะคะ)
ส่วนบทความนี้มาต่อที่ขั้นตอนถัดไปกันก่อนนะคะ
4. เมื่อผู้ทดสอบทราบข้อมูลก่อนการทดสอบซอฟต์แวร์แล้ว ให้บันทึกข้อมูลเหล่านั้นลงในฟอร์มบันทึกการทดสอบและผลการทดสอบส่วนที่ 1 คือ Test Information ที่ได้จัดเตรียมไว้ค่ะ ตัวอย่างค่ะ
และขั้นสุดท้ายยยยยยยยยยยยย
5. ผู้ทดสอบรวบรวบการทำงานทั้งหมดของซอฟต์แวร์ที่จะทดสอบโดยรวบรวมจาก Function หรือ Use Case ของซอฟต์แวร์ซึ่งตรงตามข้อกำหนดของซอฟต์แวร์ที่ได้ระบุไว้ (หากโปรแกรมมีผู้ใช้หลายบทบาทให้แยก Task Test ตามบทบาทการใช้งาน) โดย Function เหล่านั้นจะถูกบันทึกเป็น Task Test ในการทดสอบและระบุ Task Test No. เอาไว้ (1 Task Test เท่ากับ 1 ชุดการทดสอบ) เพื่อเตรียม Test Step และออกแบบ Test Case สำหรับทดสอบแต่ละ Task Test ในขั้นตอนต่อไป
สำหรับ Task Test No. นั้นแนะนำให้ตั้งโดยใช้ตัวอักษรย่อเพียงสองถึงสามตัวและตามด้วยตัวเลขที่จะเรียงลำดับไปเรื่อย ๆ เช่น TE001 เป็นต้น
Task Test คือ ชุดการทดสอบของแต่ละการทำงาน (Function) ต่าง ๆ ของซอฟต์แวร์
ตัวอย่างค่ะ
สำหรับรายละเอียดของขั้นตอนที่ 1 ก็มีเท่านี้ค่ะ ส่วนบทความหน้านั้น ผู้เขียนจะมาแชร์ข้อมูลที่ผู้ทดสอบต้องทราบก่อนเริ่มการทดสอบซอฟต์แวร์ไว้ให้นะคะ และบทความถัดไปจะลงลึกในรายละเอียดขั้นตอนที่ 2 (#3) กันต่อค่ะ