ทำความรู้จักและเรียนรู้การใช้งานเบื้องต้นกับ StringBuilder ใน .NET Framework(C#)

          โดยปกติแล้วนั้น ผู้พัฒนาโปรแกรมโดยใช้ .NET Framework มักจัดการข้อมูลที่เป็นอักษรหรือข้อความ (String) ด้วยคลาสของ String ที่มีใน .NET Framework ซึ่งประกอบไปด้วยฟังก์ชั่นหรือเมธอดที่หลากหลายที่ติดมากับตัวคลาส เพื่อเตรียมมาไว้ให้ใช้งาน และสามารถรองรับความต้องการในการจัดการข้อมูลของผู้ใช้แต่ละคน ซึ่งมีวิธีการใช้งานง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน มีมาตรฐานการใช้งานที่รู้จักโดยทั่วถึงกัน สะดวกและรวดเร็วทำให้ผู้พัฒนาสามารถเลือกวิธีจัดการข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคลาสของ String จะมีเมธอดให้เราได้เลือกใช้กันอย่างมากมายและมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว แต่ปัญหาอย่างหนึ่งที่พบในการใช้งานกับตัวแปรของคลาส String คือ การเชื่อมต่อหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขค่าข้อความของตัวแปรชนิด String ในแต่ละครั้ง จะไม่สามารถเปลี่ยนรูป หรือกลับไปแก้ไขค่าของตัวแปรบนพื้นที่หน่วยความจำเดิมที่ถูกจองไว้ให้กับตัวแปรได้ หรืออาจพูดในทางโปรแกรมแบบง่ายๆได้ว่า หากเราต้องการเปลี่ยนแปลงค่าของตัวแปรชนิด String เราจะไม่สามารถกลับไปแก้ไขค่าใน object ของตัวแปรที่ถูกสร้างขึ้นเดิมในหน่วยความจำ หรือ Memory ที่สร้างไว้ในตอนแรกได้ แต่จะมีการสร้าง object ตัวใหม่ขึ้นมา ทุกครั้งที่มีการแก้ไข/จัดการข้อมูลค่า หรือมีการใช้งานเมธอดในคลาส System.String และใช้วิธีให้ pointer ของตัวแปรชี้ไปยังตำแหน่งของ object ตัวใหม่ที่มีค่าของตัวแปรที่ถูกแก้ไขภายหลังแทน ซึ่งหากมีกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงค่าข้อมูล หรือเชื่อมต่อข้อความในตัวแปรดังกล่าวจำนวนหลายครั้ง หรือมีการวนลูปซ้ำในการเปลี่ยนแปลงค่าเป็นจำนวนมาก จะถือเป็นการใช้งานทรัพยากรหน่วยความจำอย่างสิ้นเปลือง เนื่องจาก object ของตัวแปรจะถูกสร้างขึ้นใหม่เรื่อยๆและมีการจองพื้นที่ให้กับ object ตัวที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ตามจำนวนครั้งที่ทำการแก้ไขหรือเชื่อมต่อข้อความนั่นเอง ดังภาพ


ภาพการจองพื้นที่ในหน่วยความจำของตัวแปรชนิด String
[ที่มาของภาพ : http://www.tutorialsteacher.com/csharp/csharp-stringbuilder]

                    จากภาพตัวอย่างจะเห็นได้ว่า เดิมทีมีการกำหนดค่าให้กับตัวแปรเป็นข้อความ “Hello World!!” แต่เมื่อมีการปรับแก้ค่าของตัวแปร จะมีการสร้าง object ตัวใหม่ โดยจะเก็บค่าที่มีการเปลี่ยนแปลงของข้อความไปเป็น “Hello World!! From Tutorials Teacher” และเลื่อนตำแหน่งของ pointer ของตัวแปรที่จะชี้ไปเพื่อให้ได้ค่าใหม่นั่นเอง
          จากปัญหาดังกล่าว .NET Framework ก็ได้จัดเตรียมคลาสที่มีชื่อว่า “StringBuilder” ขึ้นมา ซึ่งเป็นคลาสที่ใช้ในการจัดการกับข้อมูลชนิดข้อความเช่นเดียวกับคลาส String โดยยินยอมให้มีการแก้ไขและปรับเปลี่ยนค่าในตัวแปรข้อความ(string) ดังกล่าวได้ใน object ตัวเดิมบนพื้นที่หน่วยความจำเดิม โดยไม่ต้องสร้าง object และทำการจองพื้นที่หน่วยความจำขึ้นใหม่ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงค่าของข้อความดังเช่นในคลาส String นั่นเอง ซึ่งจะทำให้สามารถประหยัดการใช้ทรัพยากรหน่วยความจำได้ในกรณีที่มีการเชื่อมต่อข้อความหรือเปลี่ยนแปลงค่าของตัวแปรจำนวนหลายครั้งได้

 ภาพการจองพื้นที่ในหน่วยความจำของตัวแปรชนิด StringBuilder

[ที่มาของภาพ : http://www.tutorialsteacher.com/csharp/csharp-stringbuilder]

          ดังนั้น ในการจัดการข้อมูลที่เป็นตัวอักษร หรือข้อความ ผู้พัฒนาควรเลือกใช้วิธีการให้เหมาะสมกับประเภทและลักษณะการใช้งาน เพื่อให้การใช้งานบนพื้นที่หน่วยความจำ และทรัพยากรเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งในบทความนี้ ผู้เขียนจะขอพูดถึงวิธีการใช้งานในเบื้องต้นของการจัดการข้อมูลชนิด StringBuilder เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับผู้พัฒนาต่อไป

 

หลักการทำงานและการจองพื้นที่ในหน่วยความจำของตัวแปรชนิด StringBuilder

          โดยปกติแล้วนั้น ค่าของ “StringBuilder.Length” จะเป็นค่าของจำนวนตัวอักษรที่มีในตัวแปร object ของ StringBuilder และจะถูกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีการเพิ่มตัวอักษรหรืออักขระเข้าไปในตัวแปรนั้นโดยไม่มีการจองพื้นที่หน่วยความจำเพิ่ม จนกว่าค่าของ Length เท่ากับจำนวนของความจุที่จองพื้นที่หน่วยความจำไว้ ซึ่งก็หมายถึงค่าของ “Capacity” นั่นเอง และหากการเพิ่มตัวอักษรดังกล่าวทำให้ค่าของ Length มากกว่าค่าของ Capacity ใน object นั้นๆ จะมีการจองพื้นที่หน่วยความจำเพิ่มเป็นเท่าตัว เช่น จากเดิม 16 ตัวอักษรจะถูกเพิ่มเป็น 32 ตัวอักษร โดยจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ไม่เกินค่าความจุสูงสุด หรือที่เรียกว่า “MaxCapacity” ซึ่งถ้าหากมีการเพิ่มตัวอักษรที่เกินค่าของ MaxCapacity แล้วนั้นจะทำให้เกิดข้อผิดพลาดได้ แต่หากไม่มีการกำหนดค่าให้กับ Capacity และ MaxCapacity แล้วนั้น ค่าตั้งต้นของ Capactity เริ่มต้นจะอยู่ที่ 16 ตัวอักษร และค่าของ MaxCapacity จะอยู่ที่ประมาณ 2 พันล้านตัวอักษร หรือเทียบเท่ากับค่าสูงสุดของ Int32.MaxValue นั่นเอง

การอ้างอิง Namespace
โดย Namespace ที่ต้องอ้างอิงเพิ่มเติมในการใช้งานคลาส StringBuilder มีดังนี้

  • using System;
  • using System.Text;

การประกาศตัวแปรของคลาส StringBuilder
ในการประกาศตัวแปร object ของคลาส StringBuilder จะใช้หลักการเดียวกันกับการประกาศตัวแปร object ของคลาสโดยทั่วไป แต่สามารถประกาศโดยมีการระบุค่าอื่นเพิ่มเติมโดยใช้ Constructor ได้ ซึ่งจะขอยกตัวอย่างในกรณีที่มีการใช้งานกันโดยทั่วไป ดังนี้
แบบเดียวกับการประกาศ object ของคลาสทั่วไป
ตัวอย่าง

StringBuilder sb = new StringBuilder();

แบบมีการกำหนดค่าตั้งต้น
ตัวอย่าง

StringBuilder sb = new StringBuilder("Hello World!!");

คำอธิบาย : เป็นการสร้างตัวแปร object แบบมีการกำหนดค่าเริ่มต้นให้มีค่าเท่ากับ Hello World!!
แบบมีการระบุขนาดในการจองพื้นที่ของหน่วยความจำ(Capacity)  แม้ว่าตัวแปรของคลาส StringBuilder สามารถเพิ่มและขยายได้ไม่จำกัดโดยไม่ต้องสร้าง object ตัวใหม่ แต่ผู้พัฒนาสามารถระบุขนาดสูงสุดของจำนวนตัวอักษรที่ตัวแปรจะสามารถรองรับได้ โดยค่าดังกล่าวที่ระบุนี้ เรียกว่า “Capacity” และเรียกค่าของความยาวตัวอักษรที่มีในตัวแปรนั้นๆ โดยใช้ properties ที่มีชื่อว่า “Length” โดยหากมีการกำหนดค่าของ Capacity ให้กับตัวแปรคลาส StringBuilder เมื่อมีการแก้ไขค่าของตัวแปรจะไม่ถูกจองพื้นที่ใหม่จนกว่าความยาวของตัวอักษรจะถึงค่าของ Capacity ที่กำหนด จึงจะมีการจองพื้นที่ใหม่ให้อัตโนมัติในขนาดเดียวกับ Capacity ที่กำหนดไว้เดิมเป็นเท่าตัว แต่หากไม่ได้ทำการกำหนดค่าของ Capacity ไว้ จะมีค่า default เท่ากับ 16 ซึ่งสามารถกำหนดค่าของ Capacity ได้ดังนี้

StringBuilder sb = new StringBuilder(25);

คำอธิบาย : เป็นการสร้างตัวแปร object แบบมีการกำหนดขนาดของตัวแปรให้มีขนาดความจุ หรือ Capacity ไว้ที่ 25 ตัวอักษร แต่หากมีการกำหนดค่าของข้อมูลที่มีความยาวตัวอักษรมากกว่าขนาดที่กำหนด จะมีการขยายพื้นที่ความจุให้กับขนาดตัวแปรอัตโนมัติ นอกจากจะสามารถกำหนดขนาดของตัวแปร StringBuilder โดยใช้ Constructor แล้วนั้นยังสามารถระบุผ่าน Properties ที่มีชื่อว่า Capacityได้อีกด้วย ดังนี้

sb.Capacity = 25;

แบบกำหนดค่าเริ่มต้นและระบุขนาดความจุของตัวแปร
ตัวอย่าง

StringBuilder sb = new StringBuilder("Hello World!", 25);

คำอธิบาย : เป็นการประกาศตัวแปรขนาด 25 ตัวอักษร และมีค่าเริ่มต้นเป็นคำว่า “Hello World!!”

แบบกำหนดค่าขนาดความจุและความจุสูงสุดของพื้นที่หน่วยความจำให้กับตัวแปร
ตัวอย่าง

StringBuilder sb = new StringBuilder( 25,200);

คำอธิบาย : เป็นจองพื้นที่ในการประกาศตัวแปร(Capacity)ขนาด 25 ตัวอักษร และมีค่าความจุสูงสุด(MaxCapacity)ได้ไม่เกิน 200 ตัวอักษร

แบบกำหนดค่าเริ่มต้นที่มีการตัดข้อความ(substring) และระบุขนาดความจุของตัวแปร
ตัวอย่าง

StringBuilder sb = new StringBuilder("Hello World!",0,5, 25);

คำอธิบาย : เป็นจองพื้นที่ในการประกาศตัวแปรขนาด 25 ตัวอักษร และมีค่าเริ่มต้นเป็นคำว่า “Hello”

เนื่องจากมีการ substring ค่าข้อความ “Hello World!!” ตั้งแต่ตำแหน่งที่ 0 มา 5 ตัวอักษร จึงกลายเป็นคำว่า “Hello” นั่นเอง

เมธอดที่จำเป็นและควรรู้ในการใช้งานคลาส String builder

โดยแบ่งตามลักษณะการทำงาน เพื่อง่ายต่อความเข้าใจและการนำไปใช้ ดังนี้

1.การเชื่อมต่อข้อความ เป็นการเชื่อมต่อข้อความกับค่าตัวแปรที่มีอยู่เดิมที่ตำแหน่งท้ายสุด ซึ่งมีเมธอดที่ใช้งานกันบ่อย ดังนี้
• Append() เป็นเมธอดที่ใช้ในการเชื่อมข้อความ ซึ่งสามารถใช้แทนการต่อสตริงหรือข้อความแบบทั่วไปในคลาส String โดยจะไปต่อตรงส่วนท้ายสุดของค่าใน object โดยไม่ต้องเปลี่ยนการจองพื้นที่หน่วยความจำ
ตัวอย่างที่ 1

StringBuilder sb = new StringBuilder("Hello World!");
sb.Append(" Nice to meet you!!");
Console.WriteLine(sb);

คำอธิบาย : จากตัวอย่างข้างต้น จะเห็นว่าเดิมค่าของตัวแปรมีค่า “Hello World!” แต่เมื่อมีการเรียกใช้เทธอด Append() จะทำการต่อข้อความจากเดิมจนกลายเป็น “Hello World! Nice to meet you!!

ตัวอย่างที่ 2

StringBuilder sb = new StringBuilder("Hello World");
sb.Append(" !?!?",2,2);
Console.WriteLine(sb);

คำอธิบาย : จากตัวอย่างข้างต้น จะเห็นว่าเดิมค่าของตัวแปรมีค่า “Hello World” แต่เมื่อมีการเรียกใช้เมธอด Append() แบบมีการ substring ร่วมด้วย โดยจะเริ่มทำการตัดตัวอักษรจากข้อความ “ !?!?” จากตำแหน่งลำดับ index ที่ 2 ไป 2 ตัวอักษร ซึ่งนั่นก็คือ “?!” หลังจากนั้นก็จะเชื่อมต่อด้วยข้อความเดิมจนกลายเป็น “Hello World!?!

AppendLine() เป็นเมธอดที่ใช้ในการแทรกบรรทัดใหม่เข้าไปให้กับตัวแปร
ตัวอย่าง

StringBuilder sb = new StringBuilder("Hello, I am Kate.");
sb.AppendLine();
sb.Append("Nice to meet you.");
Console.WriteLine(sb);

//หรือ
StringBuilder sb = new StringBuilder("Hello, I am Kate.");
sb.AppendLine("Nice to meet you.");
Console.WriteLine(sb);

คำอธิบาย : จากตัวอย่างข้างต้น จะเป็นการเพิ่มการขึ้นบรรทัดใหม่ให้กับข้อความของตัวแปร จากค่า “Hello, I am Kate.” ด้วยการขึ้นบรรทัดใหม่ ตามด้วยข้อความ “Nice to meet you.” โดยแสดงทั้งตัวอย่างที่มีการเพิ่มบรรทัดโดยใช้เมธอด AppendLine() ก่อน แล้วจึงเชื่อมข้อความที่เหลือด้วยเมธอด Append() หรืออาจรวบวิธีการขึ้นบรรทัดใหม่ต่อด้วยข้อความด้วยการใช้เมธอด Appendline() แบบมีการส่งค่าพารามิเตอร์ของข้อความที่ต้องการเชื่อมต่อหลังจากขึ้นบรรทัดใหม่ได้เลยดังตัวอย่าง

AppendFormat() เป็นเมธอดที่ใช้ในการเชื่อมต่อข้อความที่ท้ายสุดของค่าเดิม แบบที่มีการจัดรูปแบบให้กับข้อความที่ต้องการนำมาเชื่อมต่อ โดยรูปแบบที่ใช้ในการกำหนดเป็นรูปแบบมาตรฐานที่ใช้ในการกำหนดรูปแบบของข้อมูลที่เป็นตัวเลข วันที่ และเวลา เป็นต้น
ตัวอย่าง

int MyInt = 25;
StringBuilder sb = new StringBuilder("Your total is ");
sb.AppendFormat("{0:C} ", MyInt);
Console.WriteLine(sb);

คำอธิบาย จากตัวอย่าง เป็นการจัดรูปแบบของข้อมูลที่จะนำมาทำการเชื่อมต่อกับตัวแปรเดิม โดยผลลัพธ์ที่ได้ คือ Your total is $25.00 นั่นเอง

Insert() เป็นเมธอดที่ใช้ในการเพิ่มค่าข้อความแทรกไปยังตัวแปร โดยมีการกำหนดตำแหน่งเริ่มต้นที่ต้องการให้แทรกเพิ่มในค่าข้อมูลดังกล่าวเข้าไปในตัวแปร StringBuilder นั้นด้วย
ตัวอย่าง

StringBuilder sb = new StringBuilder("Hello, I am Kate.");
sb.Insert(5," Mr.Kim");
Console.WriteLine(MyStringBuilder);

คำอธิบาย : จากตัวอย่างข้างต้น จะเป็นการแทรกข้อความ “ Mr.Kim” ลงในตัวแปร sb ที่มีค่าเดิมเป็น
Hello, I am Kate.” จนได้ผลลัพธ์ คือ “Hello Mr.Kim, I am Kate.”

2.การล้างค่าหรือเอาค่าข้อมูลบางส่วนออก  เป็นการล้างค่าข้อมูลของตัวแปร หรือตัดข้อมูลของตัวแปรบางส่วนออกไป โดยเมธอดที่ใช้งานกันบ่อย มีดังนี้

Clear() เป็นเมธอดที่ใช้ในการล้างค่าตัวอักษรในข้อความของตัวแปร String builder ดังกล่าว และกำหนดค่าให้กับความยาวตัวอักษรหรือ properties ที่มีชื่อว่า “Length เป็น 0
ตัวอย่าง

StringBuilder sb = new StringBuilder("Hello World!");
sb.Clear();
Console.WriteLine(sb);

คำอธิบาย : จากตัวอย่างข้างต้นจะเป็นการล้างค่าข้อมูลให้กับตัวแปร sb จากเดิมที่มีค่าตั้งต้นเป็น “Hello World!” จะเหลือเป็นค่าว่าง หรือ String.Empty และหากต้องการให้แสดงผลจะไม่แสดงข้อความใดๆขึ้นมา แต่ยังคงจองพื้นที่หน่วยความจำไว้ให้กับตัวแปรนี้แม้จะไม่มีค่าข้อมูลใดๆก็ตาม และจะมีค่า Length เป็น 0 นั่นเอง

Remove() เป็นเมธอดที่ใช้ในการตัดค่าของข้อความในตัวแปรออก โดยมีการกำหนดตำแหน่งเริ่มต้นและความยาวของตัวอักษรในข้อความที่ต้องการตัด โดยนับตำแหน่งจากตัวอักษรตัวแรกเป็นค่าตำแหน่งลำดับที่ 0(ซึ่งเป็นการอ้างอิงตามหลักการนับตำแหน่งของ index โดยเริ่มถือว่าตัวอักษรตัวแรกเป็น index ลำดับที่ 0 นั่นเอง)
ตัวอย่าง

StringBuilder sb = new StringBuilder("Hello World!");
sb.Remove(5,7);
Console.WriteLine(sb);

คำอธิบาย : จากตัวอย่างข้างต้น เดิมตัวแปรมีค่าข้อความเป็น “Hello World!” แต่เมื่อใช้เมธอด Remove() ในการตัดค่าข้อความตั้งแต่ตำแหน่งของลำดับ index ที่ 5 (หรือตำแหน่งที่ 4 เมื่อเริ่มต้นนับ 1 จากตัวอักษรแรกของข้อความ) ไปจำนวน 7 ตัวอักษร โดยผลลัพธ์ที่ได้ เป็นดังนี้ “Hello

• การตัดค่าบางส่วนออกโดยกำหนดค่า properties ที่ชื่อว่า Length ให้กับตัวแปร

ตัวอย่าง

StringBuilder sb1= new StringBuilder("Hello World!");
sb1.Length--;
//หรือ
sb1.Length = sb1.Length-1;
//หรือ
sb1.Remove(sb1.Length-1,1);
//เป็นการตัดค่าตัวอักษรตัวสุดท้ายออกจากข้อความ จะได้ผลลัพธ์ คือ Hello World 

StringBuilder sb2= new StringBuilder("Hello World!"); 
sb2.Length=0; 
//เป็นการล้างค่าข้อมูลในตัวแปร sb2 
ซึ่งจะมีลักษณะการทำงานเช่นเดียวกับการใช้เมธอด Clear() ที่กล่าวไว้แล้วข้างต้นนั่นเอง

คำอธิบาย : จากตัวอย่างข้างต้น ในส่วนของ sb1 นั้นจะเป็นการตัดค่าตัวอักษรตัวสุดท้ายออกจากข้อความ “Hello World!” ซึ่งก็คือตัวอักษร “!” โดยจะได้ผลลัพธ์ เป็น “Hello World” และสำหรับกรณีของ sb2 จะเป็นการล้างค่าข้อมูลในตัวแปร sb2 ซึ่งจะมีลักษณะการทำงานเช่นเดียวกับการใช้เมธอด Clear() ที่กล่าวไว้แล้วข้างต้นนั่นเอง

3. การเปลี่ยนแปลงค่าของตัวแปร  ดังนี้

• Replace() เป็นเมธอดที่ใช้ในการแทนที่ข้อความ โดยมีลักษณะการทำงานเช่นเดียวกับเมธอด Replace() ที่มีในคลาส String ที่จะต้องมีการกำหนดค่าใหม่ที่ต้องการให้แทนที่ และค่าที่ต้องการแทนที่นั่นเอง
ตัวอย่าง

StringBuilder sb= new StringBuilder("Hello World!");
sb.Replace('World', 'Kate');
Console.WriteLine(sb);

คำอธิบาย จากตัวอย่างข้างต้น จะเป็นการแทนที่ค่าของข้อความเดิมคือ “World” ในคำว่า “Hello World!” ด้วยค่า “Kate” ซึ่งจะได้ผลลัพธ์ คือ “Hello Kate!

4. การแปลงค่าจากตัวแปรชนิด StringBuilder เป็น String  ดังนี้

ToString() เป็นเมธอดที่ใช้ในการแปลงค่าตัวแปรแบบ StringBuilder มาเป็นค่าของตัวแปรแบบคลาส String เพื่อนำไปแสดงผลหรือนำมาประยุกต์ใช้งานกับเมธอดที่มีในคลาส String ต่อไป
ตัวอย่าง

StringBuilder sb= new StringBuilder("Hello World!");
Console.WriteLine(sb.ToString());
//การนำไปใช้กับเมธอดหรือฟังก์ชั่นที่มีในคลาส String
int a = sb.ToString().IndexOf("a");
//เป็นการค้นหาตำแหน่งของอักษร a ในตัวแปร sb ที่ถูกแปลงเป็น String 
ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จะเท่ากับ -1 เนื่องจากไม่มีตัวอักษร a ในข้อความดังกล่าว

คำอธิบาย : จากตัวอย่างข้างต้นเป็นการแปลงค่าของตัวแปรในคลาส StringBuilder ให้เป็นคลาส String ซึ่งหลังจากที่ได้ทำการแปลงค่าแล้วนั้น จะสามารถใช้งานเมธอหรือฟังก์ชั่นที่มีในคลาส String ได้ เช่น IndexOf หรือ StartsWith  เป็นต้น

5. การอ้างอิงและเข้าถึงตัวอักษรที่อยู่ในข้อความ  ดังนี้

ตัวอย่าง

StringBuilder sb= new StringBuilder("Hello World!");
Console.WriteLine(sb[6]);
//ผลลัพธ์ที่ได้คือ "W"
sb[2] = 'k';
//ผลลัพธ์ที่ได้คือ "Heklo World!"

คำอธิบาย : จากตัวอย่างข้างต้นเป็นการเข้าถึงตำแหน่งของค่าตัวแปรชนิด StringBuilder ผ่านการอ้างลำดับ index ของอักขระในตัวแปรนั้น และตัวอย่างถัดมาจะเป็นการเปลี่ยนแปลงค่าโดยการเข้าถึงอักขระในลำดับ index ที่กำหนด โดยให้ค่าใหม่แทนที่

6. การค้นหา  ในการค้นข้อมูลของตัวแปรแบบ StringBuilder นั้น โดยทั่วไปแล้วจะไม่มีเมธอดที่ใช้ในการค้นหาข้อมูลโดยตรง ดังเช่นที่มีในคลาส String เช่น IndexOf หรือ StartsWith ดังนั้นเราสามารถประยุกต์วิธีการค้นหาตามลักษณะของข้อมูลและการจัดการได้ ดังนี้

  • การค้นหาค่าที่ได้กลับมาในรูปแบบ Stringจากการเรียกใช้เมธอด ToString() โดยใช้เมธอดที่มีเช่นเดียวกับในคลาส String ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย และสามารถเปลี่ยนแปลงข้อมูลของตัวแปรได้โดยไม่สิ้นเปลืองทรัพยากร
  • แปลงค่าของตัวแปรแบบ StringBuilder ให้เป็นแบบ String และใช้เมธอดในการค้นหาที่มีในคลาส String ซึ่งวิธีการนี้เหมาะกับการทำงานที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงภายหลังจากการแปลงค่ามากนัก เพื่อลดการสิ้นเปลืองทรัพยากรในการแปลงค่าภายหลัง
  • ค้นหาข้อมูลให้เสร็จก่อนทำการนำมาแปลงค่าเป็นแบบ StringBuilder โดยวิธีนี้จะต้องไม่สนใจค่าลำดับของตัวอักษรที่ได้จากการค้นหานั้นๆ
  • ค้นหาโดยใช้ Properties ทีชื่อว่า Chars โดยวิธีนี้เหมาะกับข้อมูลที่มีอักษรจำนวนไม่มาก และเงื่อนไขในการค้นหาไม่ซับซ้อน

เพิ่มเติม
• หลักการเบื้องต้นในการพิจารณาการใช้งานกับการจัดการข้อมูลของตัวแปรข้อความ(String)ที่ใช้เมธอดการทำงานในแบบเดียวกัน หากเป็นการใช้งานที่มีการเชื่อมต่อข้อความในตัวแปรเดิมที่มากกว่า 4 ครั้ง ผู้พัฒนาควรหันมาใช้ตัวแปรแบบคลาส StringBuilder เนื่องจากจะทำให้ประหยัดทรัพยากรหน่วยความจำมากกว่า แต่หากจำนวนครั้งในการเชื่อมต่อน้อยกว่านั้นควรใช้คลาสของ String ตามเดิมเพื่อความสะดวกและรวดเร็ว เนื่องจากมีเมธอดรองรับการจัดการข้อความที่หลากหลายและไม่ถือเป็นการสิ้นเปลืองพื้นที่หน่วยความจำมากนัก

• ในการเรียกใช้งานเมธอดต่างๆ สามารถนำมาเขียนรวมกันใน statement เดียวกันได้ ดังนี้

ตัวอย่างที่ 1

      StringBuilder sb = new StringBuilder();
      sb.Append("This is the beginning of a sentence, ");
      sb.Replace("the beginning of ", "");
      sb.Insert(sb.ToString().IndexOf("a ") + 2, "complete ");
      sb.Replace(",", ".");
      Console.WriteLine(sb.ToString());

คำอธิบาย : จากตัวอย่างข้างต้นเป็นการเชื่อมต่อข้อความเริ่มต้น คือ “This is the beginning of a sentence, ” และแทนที่คำว่า  “the beginning of” ด้วย “”(ค่าว่าง) และแทรกข้อความคำว่า “complete ” เข้าไปในตำแหน่งซึ่งหามาได้จากการเรียกใช้เมธอด ToString() และตามด้วยเมธอด IndexOf ของตำแหน่งข้อความ “a ” ถัดไปอีก 2 ตำแหน่งด้วยค่า “complete ” และแทนที่เครื่องหมาย “,” ด้วย “.”

สามารถเขียนรวมเป็น statement เดียวกันได้ดังนี้

ตัวอย่างที่ 2

      StringBuilder sb = new StringBuilder("This is the beginning of a sentence, ");
      sb.Replace("the beginning of ", "").Insert(sb.ToString().IndexOf("a ") + 2, 
                                                 "complete ").Replace(",", ".");
      Console.WriteLine(sb.ToString());

ซึ่งจะให้ผลลัพธ์เช่นเดียวกับตัวอย่างที่ 1

          จากบทความข้างต้นที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่าประสิทธิภาพการจัดการข้อมูลจะดีเพียงใดนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับการพิจารณาและเลือกใช้วิธีการจัดการข้อมูลที่ถูกต้องและเหมาะสมกับปัจจัยต่างๆ เช่น จำนวนของข้อมูล จำนวนครั้งในการเปลี่ยนแปลงข้อมูล และจำนวนทรัพยากรที่ใช้ในการพัฒนา เป็นต้น ซึ่งข้อมูลในบทความนี้เป็นเพียงข้อมูลในเบื้องต้นเกี่ยวกับ StringBuilder เท่านั้น ยังคงมีข้อมูลรอให้พวกเรานักพัฒนาทั้งหลายได้เข้าไปทำการศึกษาและเรียนรู้กันอีกมากมาย หากผู้ใดมีความสนใจสามารถค้นหาเพิ่มเติมและมาร่วมกันแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกันได้ และผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลดังกล่าวจะช่วยให้การตัดสินใจเลือกใช้วิธีการจัดการข้อมูลเป็นไปได้ง่ายขึ้น และโปรแกรมที่พัฒนาทำงานได้มีประสิทธิภาพรวดเร็วขึ้นไม่มากก็น้อย หากผิดพลาดประการใด ผู้เขียนขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

แหล่งข้อมูลอ้างอิง :
http://www.dotnetperls.com/stringbuilder
https://msdn.microsoft.com/en-us/library/2839d5h5(v=vs.110).aspx
http://www.tutorialsteacher.com/csharp/csharp-stringbuilder
https://blog.udemy.com/stringbuilder-c-sharp/

Share the Post:

Related Posts

ทำความรู้จักกับ Outlook บนเว็บ

Post Views: 7 Outlook เป็นเครื่องมือจัดการอีเมลและปฏิทินที่ทรงพลัง ซึ่งช่วยให้คุณมีระเบียบและเพิ่มความสามารถในการทำงาน ด้วยอินเทอร์เฟซที่ใช้งานง่าย คุณสามารถจัดการกล่องขาเข้าของคุณ นัดหมาย และทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานได้อย่างง่ายดาย ฟีเจอร์ที่แข็งแกร่งของ Outlook รวมถึงแม่แบบอีเมลที่ปรับแต่งได้ ความสามารถในการค้นหาขั้นสูง และการผสานรวมที่ไร้รอยต่อกับแอปพลิเคชัน Microsoft Office อื่นๆ ไม่ว่าคุณจะเป็นมืออาชีพที่ยุ่งอยู่หรือเป็นนักเรียนที่ต้องจัดการกับภารกิจหลายอย่าง Outlook

Read More

[บันทึกกันลืม] JupyterHub Authenticated with OIDC

Post Views: 36 ต่อจากตอนที่แล้ว [บันทึกกันลืม] JupyterHub ด้วย Docker คราวนี้ ถ้าต้องการให้ ยืนยันตัวตนด้วย OpenID เช่น PSU Passport เป็นต้น ก็ให้ทำดังนี้ ในไฟล์ jupyterhub_config.py ใส่

Read More